เล่นอย่างไรให้ดี เรื่องที่พ่อแม่ยุคใหม่ควรรู้

เมื่อนึกถึงคำว่า “เล่น” ของเด็ก ในมุมมองของผู้ใหญ่มักจะคิดถึงการเล่นที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น เล่นวิดีโอเกม เล่นเกมคอมพิวเตอร์ หรือทำกิจกรรมต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย แต่แท้จริงแล้ว การเล่นของเด็ก ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ปกครองควรปล่อยผ่าน แต่ควรใส่ใจว่าเด็กต้องการอะไร เล่นเพื่ออะไร และที่สำคัญ เด็กได้อะไรจากการเล่น  

• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •

การเลี้ยงลูก การสอนลูก และการเล่นกับลูก เป็นสิ่งที่ไม่มีตำราไหนบอกวิธีการเอาไว้อย่างชัดเจน รูปแบบของการเลี้ยงลูกมักจะขึ้นกับประสบการณ์ของพ่อแม่แต่ละคน ซึ่งไม่มีคำว่าถูกหรือผิด ดังที่พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวแบบติดตลกเอาไว้ว่า 

“ถ้าเลี้ยงแล้วไม่ตาย ก็แปลว่าเลี้ยงเป็น”

สิ่งสำคัญที่สุดของการเลี้ยงลูกคือ “การเล่นกับลูก” ซึ่งการเล่นในที่นี้ไม่ใช่การยื่นแท็บเล็ตให้ลูกไปจิ้มเล่น แต่เป็นการเล่นแบบเข้าใจ 

ดร.วรนาท รักสกุลไทย ผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาปฐมวัย อธิบายต่อว่า พ่อแม่จะต้องสังเกต และทำความเข้าใจพัฒนาการการเล่นของเด็กตั้งแต่แรกเกิด 

เด็กแรกเกิดจะเล่นกับตัวเอง เล่นกับสิ่งรอบตัว เช่น การมองตุ๊กตาโมบาย ก็ถือเป็นการเล่น ต่อมาเมื่ออายุประมาณ 2-3 ปี เด็กจะเริ่มพัฒนาสู่การเล่นร่วมกับผู้อื่น ชอบเล่นนอกบ้าน เล่นทราย เล่นน้ำ ปั่นจักยานสามล้อ ต่อบล็อก วาดรูประบายสี ดูการ์ตูน เล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน แต่เล่นได้ไม่นาน

เมื่อเด็กอยู่ในช่วง 4-5 ปี จะมีการเล่นในลักษณะร่วมมือกัน เช่น แบ่งบทบาทกันเป็นหมอ-คนไข้ และมีการสลับบทบาทกันเล่นด้วย และจะชอบเล่นสิ่งที่ชอบ สนุกและมีความสุขกับการเล่นสิ่งนั้น ๆ ได้เป็นเวลานานมากขึ้น

มาที่เด็กวัย 6-7 ปี ที่เข้าสู่การเรียนในระดับประถมศึกษา เริ่มเรียนรู้พฤติกรรมการเข้าสังคมได้ดี มีวัฒนธรรมและมารยาททางสังคม ต้องการเป็นที่ยอมรับในกลุ่มเพื่อน ซึ่งการที่เด็กสามารถเล่นกับเพื่อนเป็นกลุ่ม จะทำให้เด็กรู้จักการปรับตัวเมื่ออยู่กับคนอื่น และเรียนที่จะเป็นผู้นำ และผู้ตามที่ดี

ดร.วรนาท ฝากทิ้งท้ายอีกว่า การเข้าใจ และสังเกต พฤติกรรม และพัฒนาการการเล่นของลูก จะทำให้พ่อแม่รู้ว่าลูกของตนเองมีความผิดปกติหรือไม่ ซึ่งหากลูกมีพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าวัย พ่อแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้ไขเพื่อให้ลูกสามารถกลับมามีพัฒนาการที่สมวัยได้อีกครั้ง และจะเป็นการสร้างรากฐานที่ดีต่อการเติบโตขึ้นในอนาคต

คุณพ่อคุณแม่ทุกคนคาดหวังให้ลูกเติบโตมาเป็นคนเก่งเป็นคนดี มีสุขภาพจิตที่ดีและสุขภาพกายที่แข็งแรง แต่การที่จะไปถึงจุดนั้นได้ครอบครัวคือบุคลากรสำคัญที่จะช่วยกันเสริมสร้างทักษะต่าง ๆ ให้เกิดกับลูกน้อย

“หัวใจสำคัญในการเลี้ยงลูกคือ ไม่ได้สอนลูกในตอนโต แต่ควรสอนในช่วง 2-3 ปีแรก เพื่อสร้างความผูกพันทางอารมณ์ที่มั่นคง เพื่อให้เด็กมีความเชื่อมั่นในคุณค่าของตนเอง และมีความไว้วางใจผู้อื่นเพื่อให้สามารถเข้าสังคมได้”

รศ.นพ.ศิริไชย หงส์สงวนศรี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงความพร้อมของพ่อแม่ที่ควรมี 6 ข้อ ได้แก่

  • ความพร้อมด้านร่างกาย
  • ความพร้อมด้านเวลา
  • ความพร้อมด้านการเงิน
  • ความพร้อมด้านความรู้
  • ความพร้อมด้านทักษะในการเลี้ยงลูก
  • ความพร้อมด้านจิตใจ

สรุป

หน้าที่ของพ่อแม่ที่ดีคือ ต้องให้ความรักความอบอุ่นแก่ลูก และยังต้องฝึกวินัยให้เกิดขึ้นกับเด็ก ซึ่งการเลี้ยงลูกให้มีวินัยต้องฝึกตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเริ่มจากการฝึกให้นอนเป็นเวลา เป็นต้น

• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •

เรื่องโดย ปรภ ไม่ใช่ รปภ

ให้ข้อมูลโดย
• พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 
• ดร.วรนาท รักสกุลไทย ผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาปฐมวัย 
• รศ.นพ.ศิริไชย หงส์สงวนศรี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

บทความน่าอ่านต่อ

Leave a Reply

Discover more from Porraphat.com

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading