เลี้ยงลูกด้วยสมาร์ตโฟนให้ปลอดภัย

การใช้จอสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือจอโทรทัศน์ในการเลี้ยงลูกเป็นสิ่งที่พ่อแม่มือใหม่หลายคนนิยมทำเพื่อให้ลูกน้อยนิ่งสงบ ไม่ร้อง ไม่ซุกซน แต่นั่นเป็นโทษมหันต์กับลูกของคุณ

การใช้จอสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือจอโทรทัศน์ในการเลี้ยงลูกเป็นสิ่งที่พ่อแม่มือใหม่หลายคนนิยมทำเพื่อให้ลูกน้อยนิ่งสงบ ไม่ร้อง ไม่ซุกซน แต่นั่นเป็นโทษมหันต์กับลูกของคุณ

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการจะห้ามลูกน้อยไม่ให้ยุ่งกับหน้าจอสี่เหลี่ยมนั้นทำได้ยาก ทางเลือกที่พ่อแม่ทำได้คือ การสอนให้ลูกใช้สมาร์ตโฟนอย่างถูกวิธี แทนการปล่อยปละละเลยอย่างไม่รู้ชะตากรรม

• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •
Boy with smartphone

สิ่งที่ทำให้พ่อแม่ส่วนใหญ่ใจอ่อนคือ “เสียงร้อง” ของลูกน้อย เมื่อไม่อยากให้ลูกร้องจึงรีบตอบสนองด้วยการหยิบจอสีเหลี่ยมยัดใส่มือของลูก ซึ่งเป็นวิธีการที่ผิด 

จากการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบด้านอารมณ์และพฤติกรรมความรุนแรงของ American Academy of Pediatrics พบว่า ความรุนแรงที่เห็นจากหน้าจอโทรทัศน์และสื่อต่างๆ นับวันยิ่งมีความเพิ่มขึ้นและส่งผลร้ายต่อเด็ก เพราะจะทำให้เด็กสะสมอารมณ์หวาดกลัว วิตกกังวล ขี้สงสัย นอนไม่หลับ ฝันร้าย หรือซึมเศร้า และมีแนวโน้มที่จะแสดงความรุนแรงมากขึ้น พ่อแม่จึงควรระวังเรื่องการเสพสื่อผ่านจอโทรทัศน์ หรือจออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งทางที่ดีคือการสนับสนุนให้ลูกออกมาขยับร่างกาย

วิธีรับมือกับลูกที่ร้องเรียกสมาร์ตโฟน

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือการให้เด็กเรียนรู้อารมณ์โกรธ อารมณ์โมโห ถูกขัดใจ แต่ต้องทำด้วยวิธีที่ไม่ใช้ความรุนแรงกับเด็ก โดย พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ จิตแพทย์และรองอธิบดีกรมอนามัย ได้ให้คำแนะนำเอาไว้ดังนี้

  1. เมื่อลูกร้องต้องการสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ต ให้ดึงความสนใจจากเด็กด้วยการชวนทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น วาดรูป เต้นระบำ พาลูกไปเที่ยวข้างนอก หรือชวนเล่นกีฬาง่าย ๆ ซึ่งพ่อแม่ต้องมีความหนักแน่นในการกระทำอย่างต่อเนื่อง
  2. ใช้สื่อหน้าจอกับลูกเพียงแค่เวลาสั้น ๆ เช่น เปลี่ยนจากการดูคลิปวิดีโอ หรือเล่นเกมเป็นการอ่าน E-Book แทน และไม่ควรทิ้งเด็กเอาไว้ลำพัง เพราะการอ่านจากหน้าจอไม่เหมือนการอ่านจากหนังสือเป็นเล่ม และไม่ควรให้ใช้บ่อยเพื่อให้เด็กควบคุมอารมณ์ รู้จักการรอคอย ซึ่งการใช้สื่อหน้าจอควรอยู่ในการดูแลของพ่อและแม่
  3. บริหารเวลาในการดูแลให้ลูกได้รับความรัก ความอบอุ่น ในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบ การควบคุมอารมณ์ตัวเองจะทำได้ยาก จึงไม่ควรให้ใช้สื่อหน้าจอ แต่ในเด็กที่โตและรู้จักการรอคอย ควบคุมอารมณ์ได้ พ่อแม่สามารถให้ลูกใช้สมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตได้ แต่ต้องอยู่ในการดูแลของพ่อแม่
  4. พ่อแม่มีส่วนช่วยในการเรียนรู้ โดยให้พิจารณาดูความพร้อมของลูก ว่าสมควรที่จะใช้สื่อหน้าจอหรือไม่ และควรปลูกฝังเรื่องการเคารพเวลาให้มีทักษะทางสังคมที่พร้อม ไม่สนับสนุนสื่อที่แฝงไปด้วยสิ่งยั่วยุหรือความรุนแรง
Boy with smartphone
Kids with smartphone

แม้ว่าการห้ามไม่ให้ลูกอยู่กับสื่อหน้าจอเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่เมื่อถึงวันที่เขาโตขึ้นก็ควรที่จะเรียนรู้การเสพสื่ออย่างถูกวิธี ซึ่งการเริ่มต้นใช้เวลาหน้าจอของพ่อกับแม่คือการนั่งดูไปพร้อมกับลูกและปฏิบัติตามคำแนะนำเคล็ดลับกฎทอง 4 ประการสำหรับลูกดังนี้

สอนลูกให้ใช้หน้าจออย่างมีประโยชน์

  1. สอนให้รู้จักความต่างระหว่างคนจริงกับตัวละคร
    พ่อแม่ต้องสอนให้รู้จักแยกแยะว่าตัวละครและคนจริงนั้นแตกต่างกัน เป็นก้าวแรกที่จะสอนให้ลูกแยกแยะเพื่อให้ลูกปลอดภัยจากพิษภัยของการดูโทรทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์
  2. สอนให้รู้จักความแตกต่างระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องสมมติ
    บางรายการอาจนำมาใช้สอนเด็กให้เรียนรู้โลกจริงกับโลกสมมติได้ เช่น รายการที่มีการเล่านิทานประกอบภาพ หรือละครหุ่นสำหรับเด็ก แต่พ่อแม่ต้องคอยบอกลูกว่าช่วงไหนเป็นเรื่องจริง ช่วงไหนเป็นเรื่องสมมติ ขั้นตอนนี้เป็นการสอนต่อจากข้อแรก เพราะหลังจากเด็กแยกแยะระหว่างตัวละครกับคนจริงได้ เขาควรจะรู้ถึงความแตกต่างระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องสมมติด้วย
  3. ชวนให้ลูกดูรายการที่เหมาะสม
    พ่อแม่ต้องหาเทคนิคดึงความสนใจของลูกให้ดูรายการที่เหมาะสมกับวัย การชี้ชวนให้ลูกดูในสิ่งที่ควรดูขณะนั่งอยู่ด้วยกัน เช่น เห็นนกไหมลูก น่ารักไหม / ดูลิงนั่นสิ กินกล้วยใหญ่เลย เป็นต้น การทำเช่นนี้จะทำให้เด็กคุ้นเคยกับคำแนะนำหรือคำชวนของพ่อแม่ และทำให้เขาสนใจในสิ่งที่เราเลือกหยิบยื่นให้ และยังสามารถควบคุมคุณภาพของรายการโทรทัศน์ที่ลูกควรดูได้ด้วย
  4. ควบคุมการเปิด-ปิดโทรทัศน์ สมาร์ตโฟน และแท็บเล็ต
    ควรออกกฎของบ้านและกำหนดเวลาใช้ให้ชัดเจนในการดูโทรทัศน์และเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ลูกยังเป็นเด็กเล็ก เช่น เมื่อจบรายการแล้วควรอุ้มลูกไปหน้าจอแล้วบอกว่า “จบแล้วปิดดีกว่านะ” เมื่อเรากดปุ่มปิดก็จะเป็นการสอนให้เด็กดูโทรทัศน์เป็นเวลา ไม่หมกมุ่นกับจอมากเกินไป ซึ่งสามารถใช้วิธีนี้กับอุปกรณ์อื่น ๆ ได้ด้วย เช่น กำหนดว่าลูกจะเล่นได้เวลาไหนและมากน้องเท่าไหร่ เพื่อเป็นการฝึกวินัยเบื้องต้น
Kids with smartphone
Boy with smartphone

เมื่อเด็กถึงวัยที่สามารถเสพสื่อได้แล้ว พ่อแม่ก็ควรจำกัดการเข้าถึงให้กับลูก เพื่อไม่ให้เด็กเสพสื่อที่ไม่เหมาะไม่ควร 

สื่อหรือรายการแบบไหนที่เด็กไม่ควรดู

  1. ละครดราม่า รัก ริษยา โศกเศร้า เคล้าน้ำตา คุกคามทางเพศ ลองคิดดูว่า ลำพังแค่เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันก็สร้างความปวดหัวให้คุณได้แล้ว ยังต้องมานั่งดูเหตุการณ์จำลองที่สร้างมาเพื่อเสนอสงครามทางอารมณ์ที่เกินเลยอีกหรือ
  2. ภาพยนตร์ชุดเป็นตอน ๆ ซีรีส์ และภาพยนตร์ตื่นเต้นระทึก ต่อสู้รุนแรง ส่วนใหญ่เป็นภาพยนตร์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับตำรวจ สงคราม นักสืบ หรือพิศวาสฆาตกรรมที่หนีไม่พ้นฉากฆ่าฟัน ภาพระเบิดหรือภาพสยดสยอง ซึ่งกระทบต่อเด็กตั้งแต่วัยหัดคลาน เพราะสีหน้าของตัวละครที่บูดบึ้งหรือมีกิริยาข่มขู่ ตะคอก จะทำให้เด็กเริ่มใจเสีย หวาดกลัวและร้องไห้ เมื่อเขาได้ดูบ่อย ๆ ภาพเหล่านั้นจะฝังอยู่ในหัวของเด็กทำให้ฝังใจกับจินตนาการอันน่ากลัว
  3. ภาพยนตร์ที่มีการถ่ายภาพระยะใกล้ ใบหน้าตัวแสดงในโทรทัศน์มีผลกระทบต่อเด็ก เพราะเด็กเล็กจะชอบดูใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่ถ้าเห็นใบหน้าถมึงทึง ตาเหลือกค้าง หน้าผีสยดสยองหรือใบหน้าที่แสดงออกถึงอารมณ์ไม่ปกติ ภาพเหล่านี้จะทำให้เด็กกลายเป็นคนขี้กลัวโดยไม่มีเหตุผล หรืออาจชินชาต่อความเจ็บปวดและความหายนะของผู้อื่น ทำให้ขาดการเรียนรู้เรื่องความเห็นอกเห็นใจ หรือการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในระหว่างเพื่อนมนุษย์
  4. รายการที่มีเสียงประกอบดังรุนแรง บางรายการภาพอาจไม่เป็นพิษ แต่อาจมีเสียงที่เป็นพิษ เช่น เสียงกริ่งหรือกระดิ่งนาน ๆ เสียงร้องโหยหวนของปีศาจ เสียงไซเรนรถ หรือเสียงหวีดร้องเป็นต้น เสียงเหล่านี้อาจทำให้เด็กตื่นกลัวและเกิดอารมณ์วุ่นวายสับสนได้

สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรทำคือ การตั้งรหัสผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ตโฟนเพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเข้าไปเล่นหรือดาวน์โหลดโปรแกรมต่าง ๆ ได้ตามอำเภอใจ การสอนลูกให้เรียนรู้และสร้างพฤติกรรมที่ดีในการอยู่กับจอไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องเริ่มขัดเกลาตั้งแต่ยังเด็ก และพ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกด้วย เพราะผู้ใหญ่เองเป็นรายการโทรทัศน์สุดโปรดที่ลูกติดตามมากที่สุด

สรุป

จะเป็นอย่างไรหากเด็กๆ เติบโตขึ้นมากับ “สาร” ต่างๆ ที่ส่งผ่านมาทางสื่อหน้าจอที่มีการทะเลาะ ด่าทอ เกรี้ยวกราด ลามกหรือการตีรันฟันแทง สิ่งที่เราสามารถป้องกันเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ในอนาคตได้คือการสอนให้รู้จักแยะแยะและเข้าใจสื่อให้มาก เพื่อให้เกิดทักษะการรู้เท่าทันสื่อ และแยกแยะความเป็นจริงกับความสมมติในเนื้อหาได้ เพื่อเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์และมีสุขภาพจิตที่ดีในอนาคต

• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •

เรื่องโดย ปรภ ไม่ใช่ รปภ

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ข้อมูลบางส่วนจาก Sook Publishing
งานเสวนาในหัวข้อ “มิติด้านสื่อเชิงสร้างสรรค์ต่อสังคมสุขภาวะ”
บทความ ‘ACP’ ตัวช่วยดึงเด็กไทยออกจากหน้าจอ
และเตือน!! ลูกติดหน้าจอ เป็น `ออทิสติกเทียม`

บทความน่าอ่านต่อ

6 Comments

Leave a Reply

%d bloggers like this: