กลุ่มคนที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะหลายคนอาจมองว่าเป็นผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต แต่แท้จริงแล้วพวกเขาเหล่านั้นเป็นคนปกติที่ประสบกับปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาครอบครัว ฯลฯ จนทำให้ออกจากบ้านมาเพื่อเผชิญกับโลกเพียงลำพัง
• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •

การใช้ชีวิตบนพื้นที่สาธารณะไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะต้องหวาดระแวงกับการถูกทำร้าย ถูกขับไล่ บวกกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตทำให้กลุ่มคนไร้บ้านไม่สามารถนอนหลับได้อย่างปลอดภัย
“คนไร้บ้านไม่ได้ขี้เกียจ หรือน่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด มีแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ประสบปัญหาสุขภาพจิต” นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการทำงาน สสส. ที่ทำการสำรวจสถานะทางสุขภาพของคนไร้บ้าน พบว่า มีปัญหาการติดเหล้าร้อยละ 64 ซึ่งกลุ่มคนทั่วไปแค่ร้อยละ 30 ทั้งๆ ที่คนไร้บ้านขาดรายได้ และยังอยู่ในพื้นที่เสี่ยง

การอยู่ในพื้นที่สาธารณะนาน ยิ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรค ไม่ว่าจะโรคปอด หรือโรคติดเชื้อต่างๆ สสส.จึงเข้ามาร่วมทำโมเดล ที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าสู่ภาวะคนไร้บ้านให้สั้นที่สุด และกลับคืนสู่สังคมปกติโดยเร็ว ด้วยการพัฒนาศักยภาพ การต่อยอดทักษะอาชีพตามความถนัดของแต่ละคน เพื่อให้สามารถดูแลพึ่งพาตนเองได้ ทั้งนี้เราเชื่อว่าทุกคนมีโอกาสจะกลับมายืนอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งถือเป็นหัวใจที่สำคัญที่ทำให้ สสส. เข้ามาร่วมทำงานเรื่องของคนไร้บ้าน
จากผลการสำรวจข้อมูลคนไร้บ้านใน 3 เมืองหลัก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และขอนแก่น พบจำนวนคนไร้บ้าน 1,395 คน โดย จ.เชียงใหม่มีกลุ่มคนไร้บ้าน จำนวน 166 คน ล่าสุดลดเหลือ 75 คนโดยประมาณ ซึ่งตนไม่ต้องการรับสมาชิกคนไร้บ้านเพิ่ม แต่อยากช่วยให้พี่น้องคนไร้บ้านกลับสู่ครอบครัว สู่สังคม โดยพยายามสร้างเครือข่าย สร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้อง เพื่อที่จะได้กลับคืนสู่ครอบครัว สังคม อย่างมีศักดิ์ศรี และป้องกันกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ศูนย์ที่มีอยู่แล้วสร้างความอุ่นใจให้กับคนไร้บ้านที่เข้ามาอาศัยอยู่ และอยากให้หน่วยงานภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาและป้องกันคนไร้บ้านหน้าใหม่ด้วย

จากความสำเร็จในการก่อตั้งศูนย์ฟื้นฟูฯ ทำให้คนไร้บ้านมีที่อยู่อาศัยอย่างปลอดภัย นายนรินทร์ เอื้ออมรรัตน์ ประธานเครือข่ายคนไร้บ้าน เล่าถึงความรู้สึกของการใช้ชีวิตแบบไร้บ้านมาเป็นเวลายาวนาน โดยการตัดสินใจเข้าร่วมเครือข่ายคนไร้บ้านเชียงใหม่ หลังจากที่ถูกชักชวนโดยกลุ่มคนไร้บ้าน กทม. ในขณะนั้น ทำให้จากเดิมอยู่อย่างไร้ความฝัน มีชีวิตอยู่ไปวันๆ แห้งแล้งในจิตใจ แต่วันนี้มีบ้าน มีที่อยู่ เป็นการเติมฝันทำให้หัวใจได้น้ำมีความชุ่มชื้น ทำให้จากคนไร้บ้านกลายเป็นคนที่มีเพื่อนและมิตรในทุกภาค

“บ้านเตื่อมฝัน” ที่แปลว่าเติมฝัน สามารถเติมเต็มมิตรภาพ เติมเต็มความสุข ความฝัน สร้างความหวัง สร้างอนาคตให้กับกลุ่มคนไร้บ้านได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้การเปิดศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านเชียงใหม่จะช่วยให้คนไร้บ้านได้พัฒนาทักษะอาชีพ สามารถเลี้ยงดูตนเอง และกลับสู่สังคมได้ในอนาคตต่อไป