“โรงเรียนของเราน่าอยู่ คุณครูใจดีทุกคน” ตอนเด็ก ๆ หลายคนคงคุ้นเคยกับเนื้อเพลงนี้ แต่ใครจะคาดคิดว่า ในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่เด็กเท่านั้นที่จะต้องไปโรงเรียน แต่ผู้สูงอายุก็มีโรงเรียนให้ไปเช่นเดียวกัน
• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •

โรงเรียนผู้สูงอายุมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถเรียนรู้ได้ตามอัธยาศัย มีความสุข สนุกสนาน เน้นความรู้ที่จะช่วยพัฒนาทักษะต่าง ๆ ให้ผู้สูงอายุเข้าใจและเท่าทันต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง รวมไปถึงการพึ่งพาตนเองให้ดำเนินชีวิตในบั้นปลายอย่างมีความสุข
นางจีรนันท์ ปิติฤกษ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้าศูนย์บริการสาธารณสุข 2 เทศบาลนครรังสิต ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่โรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลนครรังสิต จ.ปทุมธานี ว่า ในการเรียนการสอนช่วงแรกผู้สูงอายุจะยังไม่คุ้นเคยกัน แต่พอเรียนด้วยกันผ่านไปสักระยะจะเริ่มมีปฏิสัมพันธ์พูดคุยกันผ่านทางไลน์ ปรึกษาหารือกัน มีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่าง ๆ เวลาพักเที่ยงระหว่างรอเรียนมีการนำอาหารมาแบ่งปันกัน

ผู้สูงอายุทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อยากสอบตกเพื่อที่จะได้เรียนใหม่ เพราะมาเรียนแล้วมีสังคม มีกลุ่มเพื่อน บรรยากาศการเรียนร่วมกันจึงดำเนินไปอย่างสนุกสนาน ทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขกว่าการอยู่บ้านเฉย ๆ
ในทางตรงกันข้าม ผู้สูงอายุที่ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมากลับเห็นต่าง เนื่องจากในตอนแรกไม่มีผู้สูงอายุคนไหนสนใจที่จะเข้าเรียน ผอ.โรงเรียนจึงได้แจ้งให้ผู้สูงอายุทุกหมู่บ้านมาตรวจสุขภาพ ทำให้หลายคนได้ทราบถึงภาวะเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ หากไม่ดูแลตนเอง
นางขวัญนรินทร์ โคกทอง พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดอนชมพู ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่โรงเรียนสร้างสรรค์สร้างสุขผู้สูงวัย อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ว่า เมื่อผู้สูงอายุได้เข้ามาเรียนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสุขอนามัยของตนเองไปในทิศทางที่ดี ผู้สูงอายุสวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด เรียบร้อย มีการตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ บุตรหลานพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การมาเรียนที่นี่ทำให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเองเป็น และหมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกายอย่างเป็นประจำ

ในขณะเดียวกันที่ศูนย์เรียนรู้ผู้สูงอายุ เรืออากาศโทหญิงทศพร ศรีบริกิจ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานพยาบาลและบริหารทั่วไป ศูนย์บริการสาธารณสุข 35 หัวหมาก ได้เล่าว่า วิชาที่ผู้สูงอายุสนใจมากเป็นอันดับหนึ่งคือ วิชาการเกษตร โดยเฉพาะการเรียนรู้วิธีการต่อ การตอน การชำกิ่ง รองลงมาคือวิชาสมาร์ทโฟน และวิชาการสื่อสาร เนื่องจากได้วิทยากรที่ดีและเก่งทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขที่ได้มาเรียน ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นตัวแทนที่มาจากชมรมผู้สูงอายุต่าง ๆ จึงอยากให้นำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ต่อในชมรมของตนเอง

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ศศิพัฒน์ ยอดเพชร นักวิจัยภายใต้โครงการ “การถอดบทเรียนตัวอย่างที่ดีของโรงเรียนผู้สูงอายุและชมรมผู้สูงอายุที่มีกิจกรรมถ่ายทอดความรู้” ของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ได้กล่าวถึงโรงเรียนผู้สูงอายุโดยสรุปว่า โรงเรียนผู้สูงอายุเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาแบบสร้างความสุข แต่ละโรงเรียนมีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ โดยอาศัยความเหมาะสมของพื้นที่และความต้องการของผู้สูงอายุเป็นหลัก
ศ.ศศิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า โรงเรียนผู้สูงอายุไม่ได้เป็นเพียงโรงเรียน แต่ยังเป็นศูนย์รวมเครือข่ายต่างๆ ในการพัฒนาผู้สูงอายุ เป็นศูนย์รวมของการเสริมสร้างศักยภาพผู้สูงอายุ โดยเน้นการมีส่วนร่วม และเน้นการทำกิจกรรมด้านจิตอาสา และสิ่งหนึ่งที่ผู้สูงอายุได้จากโรงเรียนคือ “ความสุข” นั่นคือเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ