บทความนี้เป็นบทความวิชาการเรื่อง รูปแบบการดำเนินชีวิต และการเปิดเผยตนเองในเฟซบุ๊กของกลุ่มชายรักชาย โดย ปรภัต จูตระกูล และ ผศ.ดร.บุหงา ชัยสุวรรณ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •

บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหาลักษณะของรูปแบบการดำเนินชีวิตและการเปิดเผยตนเองในเฟซบุ๊กของกลุ่มชายรักชาย และเพื่อศึกษาความแตกต่างของการเปิดเผยตนเองในเฟซบุ๊ก ของกลุ่มชายรักชายที่มีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน เป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ใช้วิธีการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) โดยเก็บข้อมูลผ่านทางแบบสอบถามออนไลน์ จากกลุ่มชายรักชายอายุระหว่าง 20-35 ปี จำนวน 400 คน ที่มีการใช้งานเฟซบุ๊ก วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วยการวิเคราะห์เชิงพรรณนา (Descriptive Analysis) การวิเคราะห์ปัจจัยและจัดกลุ่ม (Factor Analysis) การวิเคราะห์ความแปรปรวน (One-Way ANOVA Analysis) เพื่อวิเคราะห์หาความแตกต่างระหว่างกลุ่ม โดยประมวลผลจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มชายรักชายมีรูปแบบการดำเนินชีวิตหกกลุ่ม คือ กลุ่มตามบรรทัดฐานสังคม กลุ่มไฮเทคออนไลน์ กลุ่มชาตินิยม กลุ่มวันไนท์สแตนด์ กลุ่มโลกสวย และกลุ่มรักสงบ ทั้งนี้กลุ่มชายรักชายมีการเปิดเผยตนเองในเฟซบุ๊กในระดับมาก และแต่ละกลุ่มมีการเปิดเผยตนเองในเฟซบุ๊กที่ไม่แตกต่างกัน
คำสำคัญ: รูปแบบการดำเนินชีวิต, การเปิดเผยตนเอง, ชายรักชาย

Abstract
The aims of this research were to study Lifestyle and Self-Disclosure on Facebook, and to study the differences of Gay Lifestyles and Self-Disclosure on Facebook. The Quantitative research was conducted by using an online questionnaire, the sampling were 400 Male Homosexuals aged between 20-35, who had used Facebook. Descriptive analysis, Factor analysis and One-Way ANOVA analysis were used to analyze data through SPSS program.
The result showed that the Lifestyles of Male Homosexuals could be categorized into 6 groups namely Normalcy Gay Lifestyle, High-tech online Gay Lifestyle, Nationalism Gay Lifestyle, One-Night Stand Gay Lifestyle, Optimistic Gay Lifestyle and Peaceful Gay Lifestyle. In terms of Self-Disclosure on Facebook, the study found that the disclosure rate was high among Male Homosexuals and did not make any differences to Self-Disclosure on Facebook.
Keywords: Lifestyle, Self-Disclosure, Male Homosexual

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในปัจจุบันในระดับปัจเจกบุคคลก่อให้เกิด “ชีวิตดิจิทัล (Digital Life)” ชีวิตสมัยใหม่ที่เชื่อมกันด้วยการสื่อสารผ่านระบบดิจิทัล ทำให้วิถีสังคม วิถีการทำงาน วิถีครอบครัว และวิถีทางวัฒนธรรมเกิดการเปลี่ยนแปลง และช่วยให้กระบวนการในการติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์ทำได้หลายรูปแบบ (กมลรัฐ อินทรทัศน์, 2551) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้มาถึงจุดที่ทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิต การประกอบธุรกิจ และเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรง เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น อินเทอร์เน็ตไร้สาย มีศักยภาพในการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต (เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ์, 2559)
นอกจากนี้อินเทอร์เน็ตยังสร้างประโยชน์ให้กับชายรักชายอย่างมาก เนื่องจากการแสดงตัวตน “ชายรักชาย (เกย์)” ในพื้นที่แห่งความเป็นจริงส่วนใหญ่จะแสดงออกมาในพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่เฉพาะกลุ่ม โดยชายรักชายจะเปิดเผยตัวตนในทุกพื้นที่ที่ตนเองมีความรู้สึกว่าปลอดภัยหรือไว้วางใจจากบุคคลรอบข้างในพื้นที่เหล่านั้น (เนติ สุนทราวราวิทย์, 2553) อย่างไรก็ตามชายรักชายบางกลุ่ม ไม่สามารถเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองได้ จึงใช้พื้นที่ในอินเทอร์เน็ตในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพราะเป็นพื้นที่ทุกคนสามารถปรับแต่งตัวตนและเลือกแสดงออกมาตามต้องการได้ จึงเกิดการเข้ามาหาเพื่อน หาคนรัก หาเซ็กส์ หรือซื้อ-ขายบริการทางเพศในอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำได้ยากในพื้นที่แห่งความเป็นจริง เพราะบางคนต้องรักษาสถานะทางสังคมเอาไว้ (ชินวร ฟ้าดิษฐี, 2552)

การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นประจำของชายรักชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เฟซบุ๊ก กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันที่สามารถสะท้อนอัตลักษณ์ทางเพศของชายรักชายได้เป็นอย่างดี (Goffman, 1959) ในอดีตผู้คนจะเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศทางตรงด้วยวาจา และทางอ้อมด้วยพฤติกรรม แต่ในปัจจุบันชายรักชายสามารถเปิดเผยตนเองทางตรงด้วยการโพสต์ข้อความประกาศแก่สาธารณะได้ว่า “ฉันเป็นเกย์” หรือตั้งค่าในส่วนของข้อมูลพื้นฐานว่า “ฉันสนใจในผู้ชาย” ซึ่งจะทำให้ผู้ที่เข้ามาดูทราบถึงรสนิยมทางเพศ นับเป็นการเปิดเผยตนเองในทางอ้อม (Owens, 2016)
จากงานวิจัยของ กิ่งรัก อิงคะวัต (2542) เรื่อง “รูปแบบการดำเนินชีวิต พฤติกรรมการบริโภค และพฤติกรรมการเปิดรับสื่อของกลุ่มชายรักชาย (เกย์) ในเขตกรุงเทพมหานคร” ได้จัดกลุ่มรูปแบบการดำเนินชีวิตของกลุ่มชายรักชายออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่
- Home Gay Lifestyle
- Night Going Gay Lifestyle
- Obviously Gay Lifestyle
- Trendy Gay Lifestyle
- Conservative Gay Lifestyle
- Healthy Gay Lifestyle

ต่อมา เรข์ณพัศ ภาสกรณ์ (2554) ได้ทำการศึกษาในเรื่องเดียวกันคือ “รูปแบบการดำเนินชีวิต พฤติกรรมการบริโภค และการเปิดรับสื่อของชายรักชายในเขตกรุงเทพมหานคร” ในครั้งนี้ได้จัดกลุ่มรูปแบบการดำเนินชีวิตของชายรักชายออกเป็น 7 กลุ่มได้แก่
- Traveling Gay Lifestyle
- Elegant Gay Lifestyle
- Adventurous Gay Lifestyle
- Hi-Technology Gay Lifestyle
- Online Gay Lifestyle
- Thailism Gay Lifestyle
- Sweet Home Gay Lifestyle
จากงานวิจัยทั้งสองจะเห็นได้ว่า รูปแบบการดำเนินชีวิตของชายรักชายมีบางกลุ่มที่เปลี่ยนแปลงไป เห็นได้ชัดจากกลุ่ม Online Gay Lifestyle (เรข์ณพัศ ภาสกรณ์, 2554) ที่มีรูปแบบการดำเนินชีวิตเน้นทำกิจกรรมด้านการเล่นอินเทอร์เน็ต สื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ และพูดคุยกับเพื่อนฝูง นิยมดาวน์โหลดเพลงและวิดีโอจากอินเทอร์เน็ต ยามว่างชอบอ่านนิยาย เรื่องสั้น หรือบทความจากเว็บไซต์ ต่างจากงานวิจัยของ กิ่งรัก อิงคะวัต (2542) ที่อินเทอร์เน็ตยังไม่มีบทบาทมากจนสามารถจัดเป็นกลุ่มรูปแบบการดำเนินชีวิตได้ ชี้ให้เห็นว่าในงานวิจัยของ เรข์ณพัศ ภาสกรณ์ อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญจนสามารถจัดเป็นกลุ่มรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ชัดเจนได้

นอกจากนี้ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อปี พ.ศ. 2558 สพธอ. ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตจำแนกตามเพศพบว่า เพศที่สาม เป็นเพศที่มีจำนวนชั่วโมงการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงสุด เมื่อเทียบกับเพศชายและเพศหญิง อีกทั้งสื่อสังคมออนไลน์อันดับแรกที่เพศที่สามนิยมใช้ได้แก่ เฟซบุ๊ก (สพธอ., 2558) เมื่อสรุปภาพรวมแล้ว เพศที่สามเป็นผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่าเพศชายและหญิง โดยเฉพาะการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก
จากที่มาและความสำคัญดังกล่าว ทำให้ผู้วิจัยสนใจที่จะศึกษาในเรื่องของ “รูปแบบการดำเนินชีวิต และการเปิดเผยตนเองในเฟซบุ๊กของกลุ่มชายรักชาย” เนื่องจากรูปแบบการดำเนินชีวิตในยุคที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึงผู้คนได้มากถึง 50% ของประชากรทั่วโลก (We are social, 2560) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ มากมาย และเฟซบุ๊กเป็นสื่อที่ชายรักชายนิยมใช้เป็นอันดับหนึ่ง (สพธอ., 2558) ยิ่งไปกว่านั้น เฟซบุ๊กยังเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่กลุ่มชายรักชายสามารถเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองทั้งในทางตรงและทางอ้อมได้อีกด้วย Owens (2016)

วัตถุประสงค์ในการวิจัย
- เพื่อหาลักษณะของรูปแบบการดำเนินชีวิตของชายรักชาย
- เพื่อหาลักษณะการเปิดเผยตนเองในเฟซบุ๊กของกลุ่มชายรักชาย
- เพื่อศึกษาความแตกต่างของการเปิดเผยตนเองในเฟซบุ๊ก ของกลุ่มชายรักชายที่มีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน
กรอบแนวคิดในการวิจัย

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ได้แก่ เพศชายที่มีรสนิยมทางเพศชอบเพศเดียวกัน หรือกลุ่มชายรักชาย (เกย์) ที่มีการใช้งานเฟซบุ๊ก โดยอายุของกลุ่มที่มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในปี พ.ศ. 2559 ได้แก่ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 16- 35 ปี (สพธอ., 2559) ผู้วิจัยจึงได้กำหนดให้กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20-35 ปี เนื่องจากตามกฎหมายของไทย กำหนดให้ผู้ที่พ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุ 20 ปี บริบูรณ์ เพื่อที่จะได้ข้อมูลการเปิดเผยตนเองในเฟซบุ๊กของชายรักชายที่บรรลุนิติภาวะ
ผู้วิจัยได้คำนวณกลุ่มตัวอย่างจากสูตรไม่ทราบขนาดตัวอย่างของคอแครน (Cochran, 1997 อ้างถึงใน ธีรวุฒิ เอกะกุล, 2543) เนื่องจากกลุ่มประชากรไม่มีตัวเลขระบุที่แน่นอน โดยผู้วิจัยได้กำหนดความเชื่อมั่นเอาไว้ที่ร้อยละ 95 และระดับความคลาดเคลื่อนให้เป็นร้อยละ 5

จากผลการคำนวณขนาดของกลุ่มตัวอย่างโดยใช้สูตรของ Cochran ได้จำนวน 384 คน ผู้วิจัยจึงกำหนดให้ใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 คน เพื่อให้ง่ายต่อการคำนวณ
วิธีการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ใช้วิธีการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) โดยเก็บข้อมูลผ่านทางแบบสอบถามออนไลน์ จากกลุ่มชายรักชายอายุระหว่าง 20-35 ปี จำนวน 400 คน ที่มีการใช้งานเฟซบุ๊ก

วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วยการวิเคราะห์เชิงพรรณนา (Descriptive Analysis) การวิเคราะห์ปัจจัยและจัดกลุ่ม (Factor Analysis) ใช้การลดจำนวนตัวแปร (Data Reduction) เพื่อจัดกลุ่มตัวแปรที่มีความสัมพันธ์กันไว้ด้วยกัน โดยการสกัดปัจจัยใช้วิธีองค์ประกอบหลัก (Principal Component) ที่ค่า Eigen value มากกว่า 1 และหมุนแกนแบบ Varimax ในขั้นตอนแรกผู้วิจัยแยกคำถามของตัวแปรกิจกรรม ความสนใจ และความคิดเห็น ออกจากกันเพื่อทำการจัดกลุ่ม จากนั้นนำมาวิเคราะห์ต่อในขั้นที่สองโดยการวิเคราะห์องค์ประกอบของกลุ่มกิจกรรม กลุ่มความสนใจ และกลุ่มความคิดเห็น รวมกันเพื่อจัดกลุ่มรูปแบบการดำเนินชีวิตของชายรักชาย
การวิเคราะห์ความแปรปรวน (One-Way ANOVA Analysis) เพื่อวิเคราะห์หาความแตกต่างระหว่างกลุ่มรูปแบบการดำเนินชีวิต กับการเปิดเผยตนเองในเฟซบุ๊กของกลุ่มชายรักชาย ผู้วิจัยได้คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างผู้ที่มีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน โดยพิจารณาจากคะแนนเฉลี่ยของรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ได้จากการวิเคราะห์ปัจจัยขั้นที่ 2 สูงสุด 30 คนแรก เป็นตัวแทนของผู้ที่มีรูปแบบการดำเนินชีวิตในแต่ละรูปแบบ ก่อนที่จะนำไปทดสอบวิเคราะห์ความแตกต่างโดยใช้ F-Test ต่อไป

ผลวิจัยและอภิปราย
การรายงานผลการวิจัยและอภิปรายผล ผู้วิจัยได้เรียงตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยดังต่อไปนี้
1. เพื่อหาลักษณะของรูปแบบการดำเนินชีวิต
จากผลการวิจัย รูปแบบการดำเนินชีวิตของกลุ่มชายรักชาย ที่ได้จากการวิเคราะห์ปัจจัย โดยนำเอากลุ่มกิจกรรม 7 กลุ่ม กลุ่มความสนใจ 7 กลุ่ม และกลุ่มความคิดเห็น 11 กลุ่ม ที่ได้จากการวิเคราะห์ในขั้นแรก มาทำการวิเคราะห์ปัจจัยรวมกันเป็นขั้นที่ 2 สามารถจัดแบ่งได้เป็น 6 กลุ่ม ดังต่อไปนี้

1) กลุ่มรูปแบบการดำเนินชีวิตตามบรรทัดฐานสังคม (Eigenvalue = 6.35, Variance = 25.39%) เป็นกลุ่มที่นิยมทำกิจกรรมนอกบ้าน เดินเล่นซื้อของตามห้างสรรพสินค้า ชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์ ชมคอนเสิร์ตหรือละครเวที นิยมเที่ยวในต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ เที่ยวสถานบันเทิง เข้าร่วมกิจกรรมปาร์ตี้เกย์ สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ชอบท่องโลกอินเทอร์เน็ต เล่นสื่อสังคมออนไลน์ Live Streaming ในเฟซบุ๊ก หรือแอปพลิเคชั่นอื่น ๆ ในขณะเดียวกันยังชอบทำกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำบุญ เข้าวัดฟังธรรม นั่งสมาธิ ทำกิจกรรมหรือเรียนเพื่อเสริมสร้างความรู้ เล่นกีฬา ออกกำลังกาย ตรวจสุขภาพประจำปี คนกลุ่มนี้ให้ความสนใจกับการดูแลรักษารูปร่างและผิวพรรณให้ดีอยู่เสมอ และยังเปลี่ยนทรงผม เสื้อผ้าตามสมัยนิยม ให้ความสนใจกับคนรอบข้างทั้งครอบครัวและแฟน ติดตามข่าวสารวงการบันเทิง ชื่นชอบสินค้าและเทคโนโลยีใหม่ ๆ
กิจกรรมโดยรวมของกลุ่มนี้สอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบรักการท่องเที่ยวของ เรข์ณพัศ ภาสกรณ์ (2554) ที่เน้นกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว และสอดคล้องกับกลุ่มรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบชีวิตออนไลน์ ที่เน้นกิจกรรมด้านการเล่นอินเทอร์เน็ต สื่อสารผ่านสังคมออนไลน์ และยังสอดคล้องกับกลุ่ม Healthy Gay Lifestyle ของกิ่งรัก อิงคะวัด (2542) ที่ใช้ชีวิตอย่างคำนึงถึงสุขภาพ ผ่านกิจกรรมด้านกีฬา ออกกำลังกาย และยังมีกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวสูง ชอบเที่ยวต่างจังหวัดและต่างประเทศ

2) กลุ่มรูปแบบการดำเนินชีวิตไฮเทคออนไลน์ (Eigenvalue = 2.09, Variance = 8.39%) เป็นกลุ่มที่ให้ความสนใจกับเทคโนโลยีการสื่อสาร ขาดอุปกรณ์การสื่อสารไม่ได้ โลกเงียบเหงาเมื่อไม่มีอินเทอร์เน็ต นิยมซื้อสินค้าจากอินเทอร์เน็ต ซื้อสินค้าด้วยอารมณ์ และเมื่อพอใจสินค้ายี่ห้อใดจะซื้อยี่ห้อนั้นไปตลอด คนกลุ่มนี้ชอบเที่ยวในที่ของกลุ่มเกย์มากกว่าชายหญิง มองว่าการซุบซิบนินทาเป็นเรื่องสนุก ให้ความสนใจกับการเลือกแฟนที่รูปร่างและหน้าตาเป็นหลัก มองว่าคนมีฐานะดูน่าคบ ชีวิตควรดำเนินไปอย่างตื่นเต้นมีสีสัน และมองว่าครอบครัวที่สมบูรณ์ต้องมีพ่อ แม่ และลูก
ความสนใจโดยรวมของกลุ่มนี้สอดคล้องกับกลุ่มรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบไฮเทคโนโลยีของ เรข์ณพัศ ภาสกรณ์ (2554) ที่ยึดมั่นในการเป็นผู้นำด้านการใช้อุปกรณ์ Hi-Technology และชอบซื้อสินค้าจากอินเทอร์เน็ต และสอดคล้องกับกลุ่ม Trendy Gay Lifestyle ของ กิ่งรัก อิงคะวัด (2542) ที่ให้ความสำคัญกับการติดต่อสื่อสาร

3) กลุ่มรูปแบบการดำเนินชีวิตชาตินิยม (Eigenvalue = 1.84, Variance = 7.36%) เป็นกลุ่มที่มีความคิดเห็นว่า วัฒนธรรมไทยเป็นสิ่งที่ควรรักษาเอาไว้ ประเทศไทยรับวัฒนธรรมต่างชาติมามากเกินไป ศรัทธาในการเมืองไทย และจะใช้สิทธิหน้าที่ประชาชนของตนเองอย่างเต็มที่ คนกลุ่มนี้ภูมิใจในความเป็นเกย์ของตนเอง เป็นตัวเองได้ทุกที่ ไม่ปิดบัง มองว่าสังคมเปิดกว้างยอมรับเกย์แล้ว อินเทอร์เน็ตช่วยให้เปิดเผยตัวได้มากขึ้น และเชื่อว่าทำดีต้องได้ดีเสมอ สอดคล้องกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมของ ณัฐกานต์ บุญนนท์ (2550) ที่ดำเนินชีวิตอยู่ในกรอบของขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด

4) กลุ่มรูปแบบการดำเนินชีวิตวันไนท์สแตนด์ (One night stand) (Eigenvalue = 1.45, Variance = 5.81%) เป็นกลุ่มที่เล่นแอปพลิเคชั่นหาคู่เกย์ และนิยมนัดเพื่อนใหม่จากอินเทอร์เน็ต สอดคล้องกับกลุ่มรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบรักการท่องเที่ยวของ เรข์ณพัศ ภาสกรณ์ (2554) ที่มีกิจกรรมนัดพบเพื่อนใหม่จากอินเทอร์เน็ตเช่นเดียวกัน

5) กลุ่มรูปแบบการดำเนินชีวิตโลกสวย (Eigenvalue = 1.22, Variance = 4.88%) เป็นกลุ่มที่เชื่อมั่นในตนเอง มองว่าเกย์ควรสะสมทรัพย์สินเอาไว้เผื่อในยามแก่ อยากมีชีวิตคู่ที่ดูแลกันและกัน อยากรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงดู อยากจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และอยากไปใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างประเทศ คนกลุ่มนี้มองว่าการจัดตั้งองค์กรเพื่อเกย์นั้นมีประโยชน์ ประเทศไทยควรเปิดรับเกย์ให้เห็นเป็นรูปธรรม และสินค้าไทยไม่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ตนเอง สอดคล้องกับกลุ่มความคิดเห็นของกลุ่มผู้อุปถัมภ์ของ เรข์ณพัศ ภาสกรณ์ (2554) ที่มองว่าสินค้าไทยไม่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตนเอง

6) กลุ่มรูปแบบการดำเนินชีวิตรักสงบ (Eigenvalue = 1.16, Variance = 4.64%) เป็นกลุ่มที่รักอิสระ ให้ความสำคัญกับการพักผ่อนมาก และชอบพักผ่อนอยู่บ้านในวันหยุด ดูโทรทัศน์ ชมภาพยนตร์ รายการ หรือละครย้อนหลังทางอินเทอร์เน็ต ให้ความสำคัญกับเพื่อนเสมอ เต็มที่กับหน้าที่การงาน หรือการเรียน หาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และยังใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมโลกอีกด้วย สอดคล้องกับกลุ่มรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบรักบ้านของ เรข์ณพัศ ภาสกรณ์ (2554) ที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ทำกิจกรรมที่บ้าน โดยเน้นการพักผ่อนอยู่บ้าน ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขในช่วงวันหยุด และสอดคล้องกับกลุ่ม Homey Gay Lifestyle ของ กิ่งรัก อิงคะวัด (2542) ที่ชอบทำกิจกรรมในบ้าน พักผ่อนอยู่บ้านในวันหยุดเช่นกัน

2. เพื่อหาลักษณะการเปิดเผยตนเองในเฟซบุ๊กของกลุ่มชายรักชาย
จากผลการวิจัยการเปิดเผยตนเองในเฟซบุ๊กของกลุ่มชายรักชาย พบว่า กลุ่มชายรักชายมีการเปิดเผยตนเองในเฟซบุ๊กโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( = 3.91, SD .564) โดยตัวแปรที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดได้แก่ ทัศนคติต่อภาวะชายรักชาย ( = 4.39, SD .535) โดยข้อความที่กลุ่มชายรักชายเห็นด้วยมากที่สุดคือ “การเป็นเกย์ถือเป็นรสนิยมทางเพศของแต่ละคน” สอดคล้องกับผลการวิจัยของ อันธิกา แจคเกอลีน ไคลน์ (2546) ที่พบว่า เกย์ก็เหมือนคนทั่วไปปกติเพียงแต่ชอบผู้ชายด้วยกัน ถือเป็นรสนิยมอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ตัวแปรที่มีผลต่อการเปิดเผยตนเองในเฟซบุ๊กน้อยที่สุดได้แก่ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมเฟซบุ๊ก และการบูรณาการเอกลักษณ์ทางเพศให้เข้ากับแง่มุมอื่นของชีวิต สอดคล้องกับผลการวิจัยของ อันธิกา แจคเกอลีน ไคลน์ (2546) ที่พบว่า กลุ่มชายรักชายมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกย์น้อย โดยให้เหตุผลว่ายังไม่พร้อม แต่หากมีอายุมากขึ้นอาจจะเข้าร่วม ซึ่งการนำเสนอตนเองบนสังคมออนไลน์ที่เข้าร่วม เป็นปัจจัยที่จะกำหนดว่าสังคมจะรู้จักบุคคลนั้นไปในทิศทางใด (พนา ทองมีอารม และคณะ, 2559)

3. เพื่อศึกษาความแตกต่างของการเปิดเผยตนเองในเฟซบุ๊ก ของกลุ่มชายรักชายที่มีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน
ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า กลุ่มชายรักชายทั้งหกกลุ่ม มีการเปิดเผยตนเองในเฟซบุ๊กที่ไม่แตกต่างกัน อาจเป็นเพราะกลุ่มชายรักชายส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มีการเปิดเผยตนเองในอินเทอร์เน็ตที่มากขึ้น เนื่องจากอินเทอร์เน็ตเป็นพื้นที่ที่ชายรักชายรู้สึกปลอดภัย และสามารถคัดกรองผู้ที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายสังคมออนไลน์ของตนเองได้ จึงทำให้เกิดความสบายใจ ซึ่งชายรักชายจะเปิดเผยตัวตนในทุกพื้นที่ที่ตนเองมีความรู้สึกว่าปลอดภัยหรือไว้วางใจจากบุคคลรอบข้างในพื้นที่เหล่านั้น (เนติ สุนทราวราวิทย์, 2553) ซึ่งระดับของการเปิดเผยตนเองขึ้นกับว่ามีเพื่อนที่มีอยู่ในเครือข่ายนั้น ๆ (วิลาส ฉ่ำเลิศวัฒน์, 2554)
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาแต่ละกลุ่มรูปแบบการดำเนินชีวิต พบว่า กลุ่มรูปแบบการดำเนินชีวิตชาตินิยม มีการเปิดเผยตนเองในเฟซบุ๊กมากที่สุด อาจเป็นเพราะมีรูปแบบการดำเนินชีวิตที่มองว่าสังคมเปิดกว้างยอมรับเกย์แล้ว และอินเทอร์เน็ตสามารถช่วยให้เปิดเผยตัวได้มากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ภูมิใจในความเป็นเกย์ของตนเอง และสามารถเป็นตัวเองได้ทุกที่ไม่จำเป็นต้องปิดบัง เมื่ออธิบายโดยใช้แบบจำลองหน้าต่างโจฮารี (The Johari Window) (Luft, 1984) พบว่า รสนิยมทางเพศของกลุ่มชายรักชายอยู่ในบริเวณเปิดเผย (Open area) เนื่องจากมีความภูมิใจในความเป็นเกย์ และสบายใจที่จะมองว่าสังคมเปิดกว้างยอมรับเกย์ ทำให้รู้สึกปลอดภัยในการเปิดเผยรสนิยมทางเพศของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดเผยตนเองในโลกออนไลน์ เพราะเฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ที่กลุ่มชายรักชายมองว่าเป็นของตนเอง โดยชายรักชายจะเปิดเผยตัวตนในพื้นที่ที่ตนเองมีความรู้สึกว่าปลอดภัยหรือไว้วางใจจากบุคคลรอบข้างในพื้นที่เหล่านั้น (เนติ สุนทราวราวิทย์, 2553)

ข้อเสนอแนะ
1) จากผลการวิจัยพบว่า กลุ่มรูปแบบการดำเนินชีวิตทั้งหกกลุ่มมีการเปิดเผยตนเองในเฟซบุ๊กที่ไม่แตกต่างกัน และมีกิจกรรม ความสนใจ และการแสดงความคิดเห็นที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าเป็นชายรักชาย นักโฆษณา นักการตลาด และนักวิชาการสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพไปยังกลุ่มชายรักชาย
2) ในการวิจัยครั้งนี้ได้กำหนดเกณฑ์อายุของกลุ่มตัวอย่างเอาไว้ที่ 20-35 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มชายรักชายวัยรุ่น และวัยทำงานตอนต้น การศึกษาครั้งต่อไปสามารถกำหนดเกณฑ์อายุของกลุ่มตัวอย่างให้สูงขึ้น แล้วนำอายุของแต่ละกลุ่มมาเปรียบเทียบกันเพื่อให้ได้ข้อค้นพบที่หลากหลาย
3) กลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยครั้งนี้คือกลุ่มชายรักชาย นับเป็นกลุ่มวัฒนธรรมย่อย อย่างไรก็ตม กลุ่มหญิงรักหญิง และกลุ่มสาวประเภทสอง ก็เป็นกลุ่มวัฒนธรรมย่อยที่มีรูปแบบการดำเนินชีวิตและการเปิดเผยตนเองที่ควรศึกษา

กิตติกรรมประกาศ
ผู้เขียนขอขอบพระคุณ ผศ.ดร. บุหงา ชัยสุวรรณ อาจารย์ที่ปรึกษาผู้ร่วมเขียนบทความวิจัย ที่ได้กรุณาสละเวลาและความทุ่มเทในการให้คำปรึกษา ข้อชี้แนะ แนวทางและรูปแบบในการเขียน รวมถึงพิจารณาตรวจสอบบทความให้มีความถูกต้องและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นกมลรัฐ อินทรทัศน์. (2551). ผลที่เกิดจากกระแสการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารต่อสังคมปัจจุบัน. ใน ภัสวลี นิติเกษตรสุนทร และคณะ (บรรณาธิการ). ปรัชญานิเทศศาสตร์และทฤษฎีการสื่อสาร (พิมพ์ครั้งที่ 2 หน้า 465-474).นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
เอกสารอ้างอิง
● กิ่งรัก อิงคะวัต. (2542). รูปแบบการดำเนินชีวิต พฤติกรรมการบริโภค และพฤติกรรมการเปิดรับสื่อของกลุ่มชายรักชาย (เกย์) ในเขตกรุงเทพมหานคร (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร.
● ชินวร ฟ้าดิษฐี. (2552). เว็บไซต์เกย์ พื้นที่สาธารณะสำหรับคนชายขอบ. วารสารดำรงวิชาการ, 8, 81-100.
● ณัฐกานต์ บุญนนท์. (2550). รูปแบบการดำเนินชีวิต และพฤติกรรมการเปิดรับสื่อทางอินเตอร์เน็ตของกลุ่มวัยรุ่น ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น. (การค้นคว้าอิสระปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ขอนแก่น.
● ธีรวุฒิ เอกะกุล. (2543). ระเบียบวิธีวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์และสังคมศาสตร์. อุบลราชธานี: สถาบันราชภัฎอุบลราชธานี.
● เนติ สุนทราวราวิทย์. (2553). การสร้างความหมายและตัวตน “เกย์” ในพื้นที่แห่งความเป็นจริงและพื้นที่ไซเบอร์ (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ปัตตานี
● พนา ทองมีอาคม, อารีย์ ป้องสีดา, ชนาธิป พวงธนสาร, สุภาวดี พร้อมพงษา, อานนท์ คำชู, จารุภา กมลบูรณ์, ศิริธนันทษร กรุณกิจ และชลลดา พุ่มพฤกษ์. (2559). เรียนรู้เรื่องสื่อ. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม.
● เรข์ณพัศ ภาสกรณ์. (2554). รูปแบบการดำเนินชีวิต พฤติกรรมการบริโภค และการเปิดรับสื่อของชายรักชายในเขตกรุงเทพมหานคร (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพมหานคร.
● วิลาส ฉ่ำเลิศวัฒน์. (2554). ปฐมบทสู่สื่อพลังมวลชน Social Media. imarketing10.0. กรุงเทพมหานคร: โปรวิชั่น.
● เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ. (2559). เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก (Disruptive technologies). ค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2559, จาก https://www.it24hrs.com/2016/disruptive-technologies-technology
● สำนักพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์. (2558). รายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2558. ค้นเมื่อ 16 สิงหาคม 2559, จาก https://www.etda.or.th/publishing-detail/thailand-internet-user-profile-2015-th.html
● อันธิกา แจคเกอลีน ไคลน์. (2546). กระบวนการเปิดเผยตนเองของบุคคลที่เป็นรักร่วมเพศ. (เอกสารทางวิชาการ). ขอนแก่น, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
● Goffman, E. (1959). The presentation of self in everyday life. Retrieved 16 November 2016 from: https://monoskop.org/images/1/19/Goffman_Erving_The_Presentation_of_Self_in_Everyday_Life.pdf
● Luft, J. (1984). Group Process: An Introduction to Group Dynamics (3rd ed.). Mountain View, CA: Mayfield.
● Owens, Z. D. (2016). Is it facebook official? Coming out and passing strategies of young adult gay men on social media. Journal of homosexuality, 40, 431-449.
● We are Social. (2017). Digital in 2017: Global Overview. Retrieved 6 March 2017, from: https://wearesocial.com/blog/2017/01/digital-in-2017-global-overview
โพสต์ต้นฉบับจาก รายงานสืบเนื่องการประชุมวิชาการ การสื่อสารระดับชาติประจำปี 2560 หน้าที่ 49
[…] อ่านบทความวิชาการเรื่อง รูปแบบการดำเนินชีวิต และการเปิดเผยตนเองในเฟซบุ๊กของกลุ่มชายรักชาย ได้ที่นี่ คลิก […]