ในปี 2560 ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 11 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17 ของประชากรทั้งหมด โดยคาดว่าไม่เกิน 4 ปี ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งนั่นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน และปัญหาที่ตามมาคือการละเมิดสิทธิในกลุ่มผู้สูงอายุโดยคนในครอบครัวตนเอง
จำนวนผู้สูงอายุและความรุนแรงของการละเมิดสิทธิรุนแรงมากขึ้นทุกปี สังคมจึงควรตระหนักถึงการละเมิดสิทธิในกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งไม่ใช่ปัญหาส่วนตัวแต่เป็นปัญหาที่สังคมและคนรอบข้างควรเข้าใจและให้ความช่วยเหลือ
• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •

พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.พส.) กล่าวถึง ผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุและคนในครอบครัวเปลี่ยนไปทำให้ปรับตัวไม่ทันจึงเกิดเป็นปัญหาเรื่องความสัมพันธ์
นอกจากนี้สิ่งที่จำเป็นต้องดูแลเมื่อผู้สูงอายุอยู่คนเดียวคือการทำให้วัฒนธรรมและปฏิสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวกลับคืนมา การทำงานกับผู้สูงอายุต้องขับเคลื่อนในครอบครัว ชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและมีสิทธิอันชอบธรรมในการเข้าไปสอดส่องดูแลเพื่อป้องกันการถูกฟ้องกลับ

“ความเปราะบางทางธรรมชาติที่ผู้สูงอายุเลี่ยงไม่ได้ คือ โรคประจำตัว ทำให้ต้องพึ่งพาผู้อื่นมากขึ้น นอกจากนี้ความเปราะบางทางธรรมชาติภายในตัวทำให้เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิในทุก ๆ ด้าน”
ดร.ภัทรพร คงบุญ จากมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวถึงงานวิจัย 6 ชิ้นที่พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ถูกละเมิดสิทธิภายในครอบครัว โดยกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ที่อาศัยอยู่คนเดียว โสด ไม่มีลูกหลาน แต่มีความเจ็บป่วย เมื่อใช้ชีวิตไปถึงจุดเปลี่ยนจะทำให้รู้สึกอ่อนแอและต้องการที่พึ่ง บางรายอาจหาทางออกด้วยการแต่งงานใหม่หรือรับบุตรบุญธรรม โดยช่องว่างขนาดใหญ่ที่พบคือ ขาดกลไกการเฝ้าระวัง เพราะสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุถูกละเมิดสิทธิคือ ทรัพย์สิน ทำร้ายจิตใจ ร่างกาย ตลอดจน ละทิ้ง เพิกเฉย ไม่ได้มีความเป็นอยู่อย่างสมศักดิ์ศรี
ควรส่งเสริมการป้องกัน โดยจัดอบรมให้มีผู้เฝ้าระวังคอยช่วยเหลือ มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเพื่อในอนาคตจะสามารถนำมาใช้ และต้องทำไปพร้อม ๆ กับมาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางสังคม และมาตรการการศึกษาที่มีอยู่ ในขณะที่มาตรการเชิงรับได้เสนอให้มี One Stop Service ให้ผู้สูงอายุมาขอคำปรึกษาได้ในทุกเรื่อง และมีเจ้าหน้าคอยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสิ่งสำคัญคือการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน

ในมุมของผู้สูงอายุวัย 83 ปี นางนวลจันทร์ โพทา เล่าให้ฟังถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุในชุมชนของตนเองว่า ผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงอยู่ต้องร่วมมือกัน และอย่ามองว่าเด็กต้องเลี้ยงดูผู้ใหญ่ เพราะที่จริงแล้วผู้สูงอายุก็สามารถดูแลกันเองได้ ซึ่งตนอยากให้เกิดการรวมตัวกันของแต่ละชุมชนในกลุ่มผู้สูงอายุ คอยผลัดเปลี่ยนเวรกันดูแลยามเจ็บป่วย
“ไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนต้องการความช่วยเหลือ แต่ผู้ที่ยังแข็งแรงควรรวมตัวกันทำสิ่งดี ๆ ให้กัน และการรวมพลังของผู้สูงอายุในชุมชนจะทำให้เกิดความแข็งแรงอีกด้วย”

สรุป
ปัจจัยสำคัญเพื่อแก้ไขป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิของผู้สูงอายุในปัจจุบันคือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สังคม ให้เกิดเป็นระบบการคุ้มครอบกับผู้สูงอายุ การเสนอให้ปรับแก้กฎหมายให้เอื้อต่อการดูแลทรัพย์สินของผู้สูงอายุ รวมไปถึงการคุ้มครองผู้เฝ้าระวังในชุมชน การเตรียมความพร้อมกับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ อย่างมีประสิทธิภาพ
• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ข้อมูลจากเวทีเสวนาสาธารณะเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ : ปัญหาและการจัดการ