“พี่จะทำยังให้ลูกของพี่รักการอ่านดี? เพราะพี่ก็ไม่ชอบที่จะอ่าน” คำถามจากพี่สาวที่กำลังตั้งครรภ์ฉุกให้คิดตามว่า ‘หากพ่อแม่ที่ไม่ชอบอ่าน แต่ต้องการจะให้ลูกน้อยรักการอ่าน ควรจะทำอย่างไร?’
สิ่งที่ได้ตอบกลับไปคือการเล่าเรื่องราวชีวิตของตนเอง แม้ว่า ปรภ จะเติบโตมากับคุณยายและไม่มีพ่อแม่คอยอ่านหนังสือให้ฟัง แต่คุณป้าเป็นผู้ที่จุดพลังแห่งการอ่านด้วยการหยิบยื่นหนังสือเล่มแรกให้เป็นของขวัญวันเกิด หลังจากได้เริ่มอ่านก็รู้สึกรักและหลงใหลในหนังสือจึงเริ่มหาเรื่องที่สนใจมาอ่านด้วยตนเอง
เมื่อครอบครัวเห็นถึงความรักการอ่าน จึงเริ่มเข้ามาช่วยสนับสนุนด้วยการพาไปงานสัปดาห์หนังสือฯ ซึ่งการสนับสนุนจากครอบครัวที่ไม่ได้รักการอ่านทำให้สามารถสร้างนิสัยรักการอ่านด้วยตัวเองมาจนถึงทุกวันนี้
• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •

“ลองหาหนังสือนิทานมาอ่านให้ลูกฟังดูสิ เพราะหนังสือนิทานถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ใกล้ตัวเด็กมากที่สุด เพียงแค่พลิกฝ่ามือก็สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ ผ่านภาพ ผ่านข้อคิดเตือนใจ และยังแฝงไปด้วยความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ที่จะทำให้เด็กรู้จักความเมตตา มีน้ำใจ รู้จักให้อภัย”
ข้อแนะนำนี้มาจากการพูดคุยกับ ‘พี่เจ’ นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ที่แนะนำเพิ่มเติมว่า คุณพ่อคุณแม่ควรทำตัวเป็นต้นแบบที่ดีให้กับเด็ก ผู้ใหญ่ต้องอ่านให้เด็กฟังตั้งแต่อยู่ในท้อง เพราะเด็กทารกสามารถได้ยินเสียงต่างๆ ได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 6 เดือน และเสียงที่เด็กได้ยินมากที่สุดคือเสียงจากพ่อแม่ หากในช่วงเวลานี้ พ่อและแม่อ่านหนังสือนิทานให้ลูกน้อยฟัง ด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะอ่อนโยน ก็จะทำให้เด็กมีจิตใจที่อ่อนโยนตั้งแต่เล็กจนโต
“การอ่านเป็นอาหารสมอง ช่วยให้เด็กคิดเชื่อมโยง คิดวิเคราะห์ ได้เสพศิลปะผ่านหนังสือนิทาน ผ่านภาพมีความงดงาม และเนื้อเรื่อง
ถ้อยคำสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม”

การรู้หนังสือแรกเริ่ม (early literacy) คือสิ่งที่เด็กรับรู้เกี่ยวกับการอ่านและเขียน ก่อนที่เด็กปฐมวัยจะอ่านหรือเขียนได้ เมื่อเด็กน้อยมีทักษะการรู้หนังสือเบื้องต้นที่แข็งแรง เขาก็พร้อมสู่การเรียนรู้ที่จะ ‘อ่านหนังสือ’ ต่อไป
จากประสบการณ์ของตนเอง ที่พ่อแม่ไม่ได้ปลูกฝังการอ่านตั้งแต่ต้น แต่การรู้หนังสือและหันมาสนใจการอ่านอย่างจริงจัง ก็ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘การอ่านคือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้’ หากเราอ่านออก เขียนได้ การเรียนรู้ด้วยตนเองก็สามารถดำเนินได้ต่อไป แต่ผู้ที่จะมาจุดประกายให้เด็กรู้จักหนังสือ รู้จักการอ่านเขียน บุคคลแรกควรเป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครอง

ในบทความนี้ ปรภ ขอนำเสนอ 5 ปฏิบัติการ สู่การเป็นหนอนหนังสือ เพราะการรู้หนังสือของเด็ก เริ่มที่การสนับสนุนจากผู้ใหญ่ที่พร้อมจะให้เด็กเริ่มอ่าน แต่ก่อนจะชวนลูกอ่านหนังสือมีปฏิบัติการต่างๆ ที่ครอบครัวสามารถทำร่วมกันได้ดังนี้
1 พูดคุยกับลูกอย่างใกล้ชิด
ควรหมั่นสบสายตาและแสดงการโต้ตอบกับเด็ก เมื่อทารกหรือเด็กวัยเตาะแตะทำเสียงใด ๆ ตอบ ให้แสดงการโต้ตอบในเชิงบวก พูดคุยด้วยภาษาที่ชัดถ้อยชัดคำ แม้ว่าลูกจะไม่เข้าใจ แต่การสื่อสารอย่างเริงร่าจะทำให้เด็กน้อยซึมซับอารมณ์ของเรา

2 เล่นร่วมกับเด็ก
ไม่มีของเล่นใดจะดีไปกว่าการที่ผู้ใหญ่ร่วมเล่นด้วย การเล่นซ่อนหา เล่นสมมติ ต่อบล็อก ระบายสี เล่นรถ รวมถึงการเล่นนอกบ้าน การเล่นต่าง ๆ นี้จะช่วยพัฒนาทักษะเริ่มต้นอ่านเขียนของเด็กได้หลากหลาย และครอบครัวคือเพื่อนวัยเด็กที่ดีที่สุด
3 ร้องเพลงกับลูก
เพลงกล่อมเด็กจะช่วยสร้างความผูกพันในครอบครัว ในขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยพัฒนาทักษะการรู้หนังสือแรกเริ่มที่สำคัญหลายด้าน การร้องเพลง ฟังเพลงด้วยกัน รวมถึงเต้นตามจังหวะจะช่วยสร้างเสริมจิตใจที่ดีงามของเด็ก

4 อ่านหนังสือภาพให้ลูกฟัง
ถ้าหนูน้อยยังนั่งไม่ได้หรือไม่ยอมอยู่นิ่ง ๆ ขณะที่เราอ่านหนังสือให้ฟังก็อย่ากังวล เด็กเล็กสามารถฟังในขณะที่พวกเขาเคลื่อนไหวไปมาได้ ไม่จำเป็นต้องอ่านทั้งเล่มให้จบทีเดียว แต่อ่านในช่วงสั้น ๆ หลาย ๆ ที และหลาย ๆ ที่ก็ยังได้ เช่น ตอนอาบน้ำก็อ่านหนังสือที่ลอยในน้ำได้ นั่งรออาหารในร้าน ก่อนนอน และอย่าลืมว่าต้องมีเวลาอ่านนิทานเป็นกิจวัตรแห่งความสุขหรรษาร่วมกันอยู่เสมอ
5 แสดงให้ลูกเห็นถึง ‘โลก’ รอบตัว
ชักชวนด้วยการชี้ไปที่สี รูปทรง ตัวอักษรและรูปแบบต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา อธิบายสิ่งต่างๆ อย่างอ่อนโยน ไม่ช้าไม่นานเด็กน้อยจะเป็นผู้ชี้สิ่งเหล่านั้นกลับมาบอกเรา

เด็กที่มีทักษะทางภาษาดีจะมีความจำที่ดีกว่า เพราะสามารถเรียบเรียงและจัดเก็บข้อมูลเป็นภาษาที่ดีได้เป็นระบบมากกว่า ที่สำคัญที่สุดคือ การที่พ่อแม่ใช้เวลาอ่านหนังสือให้ลูกฟัง เป็นการสร้างสายใยรักในครอบครัว เด็กจะรู้สึกถึงความรักและความผูกพันจากพ่อแม่ ทำให้เขาเป็นคนมีความมั่นใจ และมีพื้นฐานที่ดีในการพัฒนาศักยภาพของตัวเองต่อไปในอนาคต

สรุป
บทบาทที่สำคัญของผู้ใหญ่คือ การสร้างประสบการณ์เริ่มต้นด้านบวกต่อหนังสือให้กับเด็ก นี่คือพลังอันยิ่งใหญ่ของการรู้หนังสือแรกเริ่มของเด็กปฐมวัย และนี่คือปฐมบทของการอ่านเขียนที่จะพัฒนาไปในภายภาคหน้าของเด็กน้อย
• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ให้สัมภาษณ์โดย นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.
ข้อมูลบางส่วนจากหนังสือมหัศจรรย์ห้องสมุดเด็กปฐมวัย ยุทธวิธีสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว