หลายคนคงจะเคยอ่านบทความไหว้พระ 9 วัดตามเส้นรถไฟฟ้ากันมาบ้างแล้ว แต่ด้วยการขยายตัวของรถไฟฟ้าที่ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การเข้าถึงพื้นที่ใหม่ๆ ทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น รวมไปถึงการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าที่เชื่อมไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตามชุมชนต่าง ๆ
รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายอ่อนนุช – แบริ่ง – เคหะฯ (สมุทรปราการ) ที่เชื่อมทางสะดวกให้กับชาวสมุทรปราการเดินทางสะดวกยิ่งขึ้น และเช่นเดียวกัน ชาวกรุงเทพก็สามารถเดินทางไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดสมุทรปราการได้สะดวกขึ้นเช่นกัน
• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •

ในบทความนี้ได้รวบรวมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไหว้พระขอพร 9 วัด เปิดศักราชใหม่ปีหนู ตามแนวเส้นรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย อ่อนนุช – แบริ่ง – เคหะฯ
E9 • สถานีอ่อนนุช
• วัดใต้
วัดใต้ มาจากการที่ตัววัดตั้งอยู่ทางทิศใต้ของแหล่งชุมชนทำให้ชาวบ้านเรียกกันอย่างติดปากว่า วัดใต้ ภายในวัดมีสิ่งหน้าสนใจหลายอย่าง เช่น สวนต้นข่อยดัดที่อยู่ริมคลอง และต้นข่อยเก่าแก่รอบบริเวณวัด โบสถศิลปะสมัยรัชกาลที่ 3 บาตรพระโบราณที่ทำด้วยดินเผา พระไตรปิฎกใบลานที่มีอายุเก่าแก่ และกุฏิทรงไทย
การเดินทาง
ระยะทางจากสถานีอ่อนนุช 1.1 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้า 14 นาที
นั่งรถวิมอเตอร์ไซค์จากสถานีอ่อนนุชใช้เวลา 5 นาที
• วัดมหาบุศย์
วัดมหาบุศย์เป็นที่ตั้งของ “วิหารหลวงพ่อยิ้ม” อยู่ด้านหน้า ถัดมามี “อุทยานพระโพธิสัตว์กวนอิม” ที่ประดิษฐานรูปปั้นเจ้าแม่กวนอิม ตั้งอยู่กลางแจ้งอีกด้วย นอกจากนี้ในวัดมีศาลแม่นาค หรือ “ย่านาค” ตั้งอยู่ จึงมักมีผู้คนมาขอพรขอเลขเด็ดเป็นประจำ
ปัจจุบันมีประชาชนนิยมเรียกอีกชื่อว่า “วัดแม่นาคพระโขนง” ตามภาพยนตร์ และละครเรื่อง “แม่นาค” ด้านข้างยังมี “ศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง” โดยผู้คนมักนิยมมาขอพรเรื่องการงาน การเรียน และโชคลาภ
การเดินทาง
ระยะทางจากสถานีอ่อนนุช 1.7 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้า 21 นาที
ระยะทางจากวัดใต้ 850 เมตร ใช้เวลาเดินเท้า 10 นาที
นั่งรถวิมอเตอร์ไซค์จากสถานีอ่อนนุชใช้เวลา 8 นาที
• วัดสะพานพระโขนง
ตั้งอยู่ใกล้กับสะพานข้ามคลอง ปัจจุบันสภาพทางภูมิศาสตร์เปลี่ยนแปลง หากฝนหรือหน้าน้ำทะเลหนุน น้ำในคลองพระโขนง จะไหลเข้าท่วมขังภายในอุโบสถอยู่เป็นประจำ
การเดินทาง
ระยะทางจากสถานีอ่อนนุช 1.8 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้า 22 นาที
นั่งรถวิมอเตอร์ไซค์จากสถานีอ่อนนุชใช้เวลา 5 นาที

E11 • สถานีปุณณวิถี
• วัดธรรมมงคล เถาบุญญนนท์วิหาร
หนึ่งในเพียงไม่กี่วัดที่เหมาะแก่การปฏิบัติจิต และเป็นที่แสดงพระธรรมเทศนา บำเพ็ญกัมมัฏฐานชั้นสูง โดยภายในวัดมีสิ่งมงคลสูงสุดคือ “พระวิริยะมงคลมหาเจดีย์ศรีรัตนโกสินทร์” ถือว่าเป็นพระมหาเจดีย์สูงที่สุดในประเทศไทย ภายในชั้นบนสุดบรรจุเส้นพระเกศาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า, พระอุรังคธาตุ, พระบรมสารีริกธาตุ และยังมีพระพุทธมงคลธรรมศรีไทย เป็นพระพุทธรูปหยกเขียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงสิ่งมงคลอีกมากมาย
การเดินทาง
ระยะทางจากสถานีปุณณวิถี 1.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้า 19 นาที
นั่งรถวิมอเตอร์ไซค์จากสถานีปุณณวิถีใช้เวลา 5 นาที

E13 • สถานีบางนา
• วัดบางนาใน พระอารามหลวง
วัดบางนาในได้รับพระราชทานวิสุงคาม-สีมาเมื่อประมาณ พ.ศ.2443 มีอุโบสถหลังคามุงกระเบื้องดินเผา เคลือบสีแบบเกล็ดหางมน ซุ้มประตู หน้าต่างทำเป็นปูนปั้นลงรักปิดทอง ภายในมีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังและเป็นที่ตั้งของมหาเจดีย์ “พระเจดีย์เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา” ที่ทางวัดสร้างขึ้นมาเพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจาก 8 ประเทศ ได้แก่ ไทย, ศรีลังกา, อินเดีย, เนปาล, พม่า, จีน, ลาว และภูฏาน
การเดินทาง
ระยะทางจากสถานีบางนา 400 เมตร ใช้เวลาเดินเท้า 5 นาที
• วัดบางนานอก
วัดบางนานอก เป็นที่สนใจแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป โดยมีพระประธานอุโบสถหลังเก่า อายุประมาณร้อยปี พระพุทธรูปยืนทรงเครื่องปางรัตนโกสินทร์ยุคต้น หงษ์สัมฤทธิ์ ธรรมมาน์บุษบก และยังเป็นแหล่งศึกษาปฎิบัติธรรม นอกจากนี้ยังตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีบรรยากาศที่ดี ร่มรื่น
การเดินทาง
ระยะทางจากสถานีบางนา 2.7 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้า 34 นาที
นั่งรถวิมอเตอร์ไซค์จากสถานีบางนาใช้เวลา 7 นาที
• วัดบางน้ำผึ้งนอก
วัดบางน้ำผึ้งนอกตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถขึ้นเรือข้ามฟากมาจากท่าวัดบางนานอกได้ ภายในโบสถ์ ประดิษฐานพระประธานเก่าแก่ คือ หลวงพ่อใหญ่ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านเป็นอย่างมาก และยังถือเป็นโบราณสถานสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายอีกด้วย
การเดินทาง
ขึ้นเรือจากท่าเรือวัดบางนานอก
นอกจากนี้ บริเวณท่าเรือมีบริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ร้านเช่าจักรยาน ให้นักท่องเที่ยวใช้บริการเพื่อเดินทางต่อไปยังตลาดบางน้ำผึ้ง หรือปั่นจักรยานริมคลองบางน้ำผึ้งบนถนนเขียว หรือถนนมรกตได้อีกด้วย

E15 • สถานีสำโรง
• วัดด่านสำโรง
ในสมัยปลายกรุธนบุรี วันนี้มีชื่อว่า “วัดสำโรง” ต่อมามีการตั้งด่านตรวจเรือในคลองสำโรง ใกล้กับวัด ชาวบ้านจึงเรียกกันติดปากว่า “ด่านสำโรง” และทำให้คนเรียกชื่อวัดว่า “วัดด่านสำโรง” ไปด้วย
การเดินทาง
ระยะทางจากสถานีสำโรง 950 เมตร ใช้เวลาเดินเท้า 12 นาที
นั่งรถวิมอเตอร์ไซค์จากสถานีสำโรงใช้เวลา 5 นาที
• ศาลเจ้าพ่อทัพ
เจ้าพ่อทัพ เป็นรูปปั้นเทพเจ้าจีนที่ลอยน้ำมาตามคลองสำโรง ชาวบ้านจึงได้อัญเชิญขึ้นมาพร้อมทั้งสร้างศาลเจ้าเพื่อประดิษฐานองค์เจ้าพ่อทัพ ชาวบ้านในพื้นที่และประชาชนที่สัญจรทางคลองสำโรงได้มากราบไหว้บูชา หลายคนสมปรารถนา ศาลเจ้าพ่อทัพจึงได้รับการพัฒนาและเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชน และผู้ที่สัญจรไปมาจะต้องกราบไหว้ขอพรเพื่อให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ
การเดินทาง
ระยะทางจากสถานีสำโรง 550 เมตร ใช้เวลาเดินเท้า 17 นาที
สามารถเดินทะลุห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลเวิลด์สำโรงได้

E16 • สถานีปู่เจ้า
• วัดไตรสามัคคี
วัดไตรสามัคคี เปิดสอนพระปริยัติธรรมเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2515 และสนับสนุนการศึกษาโดยให้ราชการสร้างโรงเรียนในที่ดินของวัดอีกด้วย
การเดินทาง
ระยะทางจากสถานีปู่เจ้า 1.5 กม. ใช้เวลาเดินเท้า 18 นาที
นั่งรถวิมอเตอร์ไซค์จากสถานีปู่เจ้าใช้เวลา 5 นาที

E17 • สถานีช้างเอราวัณ
• วัดบางด้วนใน
วัดบางด้วนใน ชื่อเดิมวัดสุขกร ต่อมาได้เรียกการตามชื่อท้องที่ตั้งวัดบางด้วนใน ทั้งนี้วัดได้เน้นด้านการศึกษา จึงสร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้นในที่วัด เป็นการส่งเสริมการศึกษาเล่าเรียนของเยาวชน
การเดินทาง
ระยะทางจากสถานีช้างเอราวัณ 1.2 กม. ใช้เวลาเดินเท้า 15 นาที
นั่งรถวิมอเตอร์ไซค์จากสถานีช้างเอราวัณใช้เวลา 3 นาที
• วัดบางด้วนนอก
วัดบางด้วนนอก มีโบสถ์เป็นแบบมหาอุตม์ ซึ่งมีอายุการสร้างเกิน 100 ปี ซึ่งโบสถ์ลักษณะนี้มีน้อยมากในจังหวัดสมุทรปราการ และกรมศิลปากรก็ได้ทำการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานวัตถุเป็นที่เรียบร้อย
การเดินทาง
ระยะทางจากสถานีช้างเอราวัณ 2.7 กม. ใช้เวลาเดินเท้า 35 นาที
นั่งรถวิมอเตอร์ไซค์จากสถานีช้างเอราวัณใช้เวลา 7 นาที
ระยะทางจากวัดบางด้วนใน 1.6 กม. ใช้เวลาเดินเท้า 20 นาที
นั่งรถวิมอเตอร์ไซค์จากวัดบางด้วนในใช้เวลา 5 นาที
• พิพิธภัณฑ์ช้างสามเศียร
พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ จัดแบ่งพื้นที่หลักออกเป็นสามส่วน ตามแนวคิด “มาจาคัมภีร์ไตรภูมิกถา” ที่แบ่งภพภูมิ เป็นสามส่วนสำคัญ คือ บาดาล โลกมนุษย์ และสวรรค์ โดยชั้นล่างสุดเป็นใต้ดินหรือบาดาล เรียกว่า “ชั้นสุวรรณภูมิ” จัดแสดงโบราณวัตถุเครื่องกระเบื้อง เช่น เครื่องสังคโลก ภาชนะเครื่องกระเบื้องแบบลพบุรี เครื่องเบญจรงค์ และเบญจรงค์ลายน้ำทอง เป็นต้น ต่อมาชั้นโลกมนุษย์หรือชั้นกลางเป็นส่วนอาคารที่รองรับตัวช้าง เล่าเรื่องราวสะท้อนศาสนาที่ค้ำจุนโลกมนุษย์ ผสมผสานศิลปะของโลกตะวันตกอย่างกลมกลืนด้วยเพดานอาคารห้องโถงเปรียบเสมือนหลังคาโลก และชั้นสาม ชั้นจักรวาล คือส่วนในตัวช้าง จัดแสดงโบราณวัตถุ คือ พระพุทธรูปโบราณสมัยต่างๆ
ช้างเอราวัณถือว่าเป็นเจ้าแห่งช้างทั้งปวง เป็นพาหนะคู่พระทัยของพระอินทร์ โดยสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของพระอินทร์คือการกระทำความดี และสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ช้างเอราวัณยังถือเป็นประติมากรรมลอยตัวด้วยวิธีเคาะมือแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
สำหรับช้างเอราวัณ หรือช้างสามเศียร ผู้คนนิยมเดินทางมากราบไหว้บนบานขอพรจากองค์ช้างกันมากมาย และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสมุทรปราการอีกด้วย
การเดินทาง
ระยะทางจากสถานีช้างเอราวัณ 2 กม. ใช้เวลาเดินเท้า 25 นาที
นั่งรถวิมอเตอร์ไซค์จากสถานีช้างเอราวัณใช้เวลา 5 นาที
ระยะทางจากสถานีปู่เจ้า 1.7 กม. ใช้เวลาเดินเท้า 21 นาที
นั่งรถวิมอเตอร์ไซค์จากสถานีปู่เข้าใช้เวลา 3 นาที

E18 • สถานีโรงเรียนนายเรือ
• วัดบางนางเกรง
วัดบางนางเกรง แต่เดิมชื่อว่า “วัดเหลือราษฎร์ศรัทธาธรรม” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ถวายดิน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อ “วัดบางนาเกรง” เพื่อให้สอดคล้องกับสถานที่ตั้งวัด โดยวัดนี้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาอีกด้วย
การเดินทาง
ระยะทางจากสถานีโรงเรียนนายเรือ 1.3 กม. ใช้เวลาเดินเท้า 15 นาที
นั่งรถวิมอเตอร์ไซค์จากสถานีโรงเรียนนายเรือใช้เวลา 3 นาที

E19 • สถานีปากน้ำ
• วัดมหาวงษ์
วัดมหาวงษ์ มีหอระฆัง และมีพระประธานในอุโบสถนามว่า “พระพุทธมงคล” ปางมารวิชัย โดยพระประธานในวิหารนามว่า “หลวงพ่อบัวขาว” ปางมารวิชัยพระพุทธรูปประจำวิหาร ก่ออิฐถือปูนอีก 3 องค์ และมีพระประดิษฐาน
การเดินทาง
ระยะทางจากสถานีปากน้ำ 400 เมตร. ใช้เวลาเดินเท้า 5 นาที

E20 • สถานีศรีนครินทร์
• วัดชัยมงคล
วัดชัยมงคล สมุทรปราการ เป็นวัดที่มีบรรยากาศร่มรื่น ในอดีตถูกเรียกว่า “วัดมอญ” เป็นวัดเก่าแก่มีอายุประมาณ 800 ปี ซึ่งไม่ได้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกอย่างวัดไทยทั่วไป แต่จะหันโบสถ์ไปทางทิศเหนือ อันเป็นที่ตั้งของเมืองหงสาวดี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของชนชาวมอญในอดีต
การเดินทาง
ระยะทางจากสถานีศรีนครินทร์ 500 เมตร ใช้เวลาเดินเท้า 6 นาที
• วัดในสองวิหาร
วัดในสองวิหาร มีบริเวณกว้างขวาง ร่มรื่น รวมถึงมีสิ่งก่อสร้างและสถาปัตยกรรมที่สวยงามภายในวัดที่น่าสนใจ เช่น พระอุโบสถหลังเก่าสร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา เหมาะอย่างยิ่งกับการมาทำบุญกันในช่วงวันหยุดของวันครอบครัว
การเดินทาง
ระยะทางจากสถานีศรีนครินทร์ 600 เมตร ใช้เวลาเดินเท้า 7 นาที
ระยะทางจากวัดชัยมงคล 300 เมตร ใช้เวลาเดินเท้า 4 นาที
• วัดกลางวรวิหาร
วัดกลางวรมหาวิหาร เดิมชื่อว่า “วัดตะโกทอง” เพราะมีการขุดพบแหวนทองคำใต้ต้นตะโก ต่อมาเรียกว่า “วัดกลาง” เพราะตั้งอยู่ท่ามกลางระหว่างวัดนอก หรือวัดพิชัยสงคราม กับวัดใน คือวัดในเดิมสองวิหาร
พระอุโบสถของวัดกลางได้รับการปฏิสังขรณ์ตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังปฐมสมโพธิกถา นอกจากนี้ยังมีศาลาการเปรียญเป็นเรือนไทยไม้สักทั้งหลัง
การเดินทาง
ระยะทางจากสถานีศรีนครินทร์ 1.2 กม. ใช้เวลาเดินเท้า 15 นาที
นั่งรถวิมอเตอร์ไซค์จากสถานีศรีนครินทร์ใช้เวลา 5 นาที
ระยะทางจากวัดในสองวิหาร 700 เมตร ใช้เวลาเดินเท้า 9 นาที
• ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรปราการ
ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสมุทรปราการเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มานานเกือบ 200 ปี แตกต่างจากหลักเมืองที่อื่นๆ ที่มีการแยกสถานศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองเป็น 2 ส่วนคือ ศาลเจ้าพ่อคุ้มครองเมือง และเสาหลักเมือง ซึ่งถือเป็นฐานหลักของแต่ละเมือง แต่ชาวเมืองปากน้ำนิยมเรียกรวมเป็นชื่อเดียวว่า “ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง”
ศาลเจ้าพ่อ คือ ศาลแห่งเทพเจ้า ที่ชื่อ “เฉิงหวง” ตามตำนานจีน เทพเฉิงหวง เป็นเทพผู้มีพระมัสสุ(หนวด)ยาว หน้าตาน่าเกรงขาม
การเดินทาง
ระยะทางจากสถานีศรีนครินทร์ 1.5 กม. ใช้เวลาเดินเท้า 1
• วัดพิชัยสงคราม
วัดพิชัยสงคราม จังหวัดสมุทรปราการ เป็นวัดเก่าแก่แต่กรุงศรีอยุธยาตอนปลาย อดีตเรียกว่า วัดโพธิ์ หรือวัดนอก เมื่อครั้งรัชกาลที่ 2 พระยาพิชัย สงครามได้มาสร้างป้อมปราการไว้ป้องกันข้าศึกและได้บูรณะวัดนอกเมื่อรัชกาลที่ 2 เสด็จพระราชดำเนินมาทอดผ้าพระกฐินได้พระราชทานนามวัดว่า วัดพิชัยสงคราม ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ
การเดินทาง
ระยะทางจากสถานีศรีนครินทร์ 1.7 กม. ใช้เวลาเดินเท้า 22 นาที
นั่งรถวิมอเตอร์ไซค์จากสถานีศรีนครินทร์ใช้เวลา 5 นาที
ระยะทางจากวัดกลางวรวิหาร 550 เมตร ใช้เวลาเดินเท้า 7 นาที
• วัดพระสมุทรเจดีย์
พระเจดีย์กลางน้ำหรือพระสมุทรเจดีย์ถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสมุทรปราการ เหตุที่เรียกว่าพระเจดีย์กลางน้ำเพราะว่าในสมัยที่สร้างพื้นที่ตรงนี้มีลักษณะเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบ รัชกาลที่ 2 ทรงมีพระราชดำริให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นบนเกาะนั้นเพื่อเป็นที่สักการบูชาของผู้คนที่เดินทางผ่านไปผ่านมาให้เป็นสิริมงคล และป้องกันภัยอันตรายทั้งปวง ปัจจุบันไม่มีลักษณะของการเป็นเจดีย์กลางน้ำแล้วเพราะตะกอนดินทับถมกันจนทำให้ตลิ่งเชื่อมติดกับเกาะกลางน้ำและทำให้พระสมุทรเจดีย์องค์นี้ไม่ได้อยู่กลางน้ำอีกต่อไป
องค์พระสมุทรเจดีย์มีความงดงามที่โดดเด่น ความขาวสะอาดขององค์พระเจดีย์ ตัดกับสีฟ้าของท้องฟ้า และความเขียวขจีของต้นไม้และต้นหญ้า อีกทั้งยังมีทิวทัศน์ริมน้ำเจ้าพระยาเป็นฉากหลังซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์อย่างยิ่ง
การเดินทาง
นั่งรถวิมอเตอร์ไซค์จากสถานีศรีนครินทร์มายังท่าเรือข้ามฟากใช้เวลา 6 นาที
ระยะทางจากวัดพิชัยสงครามมายังท่าเรือข้ามฟาก 290 เมตร ใช้เวลาเดินเท้า 4 นาที

E22 • สถานีสายลวด
• วัดพุทธภาวนาราม
วัดพุทธภาวนาราม สร้างขึ้นในความอุปถัมภ์ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น วัดสามพระยา) ภายในมีบริเวณวัดกว้างขวาง บรรยากาศร่มรื่น เงียบสงบ และยังมีห้องสมุด เหมาะอย่างยิ่งกับการมาทำบุญ นั่งอ่านหนังสือ และยังได้รับคัดเลือกเป็นอุทยานการศึกษา วัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่นอีกด้วย
การเดินทาง
ระยะทางจากสถานีสายลวด 1.1 กม. ใช้เวลาเดินเท้า 14 นาที
นั่งรถวิมอเตอร์ไซค์จากสถานีสายลวดใช้เวลา 5 นาที
• ศาลเจ้าไต้ฮง หรือสุสานปากน้ำ
ศาลเจ้าไต้ฮงกง เป็นที่ประดิษฐานรูปจำลอง “หลวงปู่ไต้ฮงมหาเถระ” ซึ่งอัญเชิญมาจากจีน เป็นผู้ริเริ่มบำเพ็ญกุศลในการจัดฌาปนกิจศพไร้ญาติสมัยราชวงศ์ซ้อง ในเวลาต่อมาได้จัดตั้ง “คณะเก็บศพไต้ฮงกง” เพื่อทำการเก็บและจัดการงานศพอนาถา ต่อมาเปลี่ยนชื่อคณะเป็น “มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง”
การเดินทาง
ระยะทางจากสถานีสายลวด 1.8 กม. ใช้เวลาเดินเท้า 22 นาที
นั่งรถวิมอเตอร์ไซค์จากสถานีสายลวดใช้เวลา 10 นาที
• วัดโพธิยาราม หรือวัดทองคง
วัดโพธิยาราม ตั้งอยู่ใกล้โค้งโพธิ์ ภายในบริเวณวัดมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามบ่งบอกความเป็นไทย มีพระพุทธรูปที่งดงาม
การเดินทาง
ระยะทางจากสถานีสายลวด 1.9 กม. ใช้เวลาเดินเท้า 24 นาที
นั่งรถวิมอเตอร์ไซค์จากสถานีสายลวดใช้เวลา 6 นาที

E23 • สถานีเคหะสมุทรปราการ
• วัดราษฎร์โพธิ์ทอง
วัดราษฎร์โพธิ์ทอง ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดโค้งโพธิ์” ใครที่แวะมาวัดนี้ยังสามารถเยี่ยมชมฟาร์มจระเข้สมุทรปราการได้อีกด้วย
การเดินทาง
ระยะทางจากสถานีเคหะฯ 1.1 กม. ใช้เวลาเดินเท้า 14 นาที
นั่งรถวิมอเตอร์ไซค์จากสถานีเคหะฯ ใช้เวลา 3 นาที
• วัดโสธรนิมิตต์
วัดโสธรนิมิตต์ สมเด็จพระสังฆราชได้ประทานนามว่า “วัดโสธรนิมิตต์” ตามเหตุผลที่ นางแม้น บุญประคองเกิดนิมิตเห็น “พระพุทธโสธร” เกิดศรัทธาบันดาลใจให้สร้างวัดขึ้น ในอดีตมีชื่อเรียกว่า “สำนักสงฆ์สะเเกล้ม” หรือ “วัดสะเเกล้ม” เพราะพื้นที่เป็นป่าต้นสะเเกจำนวนมาก บางครั้งก็เรียก “วัดสะพานคู่” ตามซอยเข้าวัดมีสะพานคู่ทั้งนี้ภายในวัดมีสิ่งก่อสร้างที่น่าสนใจได้แก่ “วิหารหลวงพ่อพุทธโสธร” และมี “พระพุทธโสธรปางสมาธิ” จำลองอีกด้วย
การเดินทาง
ระยะทางจากสถานีเคหะฯ 1.7 กม. ใช้เวลาเดินเท้า 22 นาที
นั่งรถวิมอเตอร์ไซค์จากสถานีเคหะฯ ใช้เวลา 5 นาที

สรุป
แม้สถานีเคหะฯ จะเป็นปลายทางของสายสีเขียว แต่หากเดินทางต่อไปก็จะพบกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเมืองสมุทรปราการอีกมากมาย ทั้งนี้หากเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอสจากสถานีอ่อนนุชถึงเคหะฯ ก็จะเป็นการเดินทางที่สะดวกสบาย ใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งวันก็สามารถขอพรกับสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์เกิน 9 แห่งเลยทีเดียว
• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •
บทความล่าสุดในหมวด Lifestyle
• • •
• • •
[…] ปักหมุดพิกัด “วัด” แนวรถไฟฟ้าสาย… […]
[…] ปักหมุดพิกัด “วัด” แนวรถไฟฟ้าสาย… […]
[…] ปักหมุดพิกัด “วัด” แนวรถไฟฟ้าสาย… […]
[…] ปักหมุดพิกัด “วัด” แนวรถไฟฟ้าสาย… […]