สิ่งแรกที่คุณทำหลังตื่นนอนคืออะไร? หลายคนอาจมีสิ่งที่ทำหลังตื่นนอนไม่เหมือนกัน แต่เชื่อว่าสิ่งที่ทุกคนทำเป็นประจำทุกวันคือการล้างหน้าแปรงฟัน แต่งตัว และสำหรับผู้หญิงอาจเพิ่มการแต่งหน้าเข้ามาก่อนออกจากบ้าน เพียงกิจวัตรเพียงไม่กี่อย่างคุณรู้หรือไม่ว่ามีสิ่งที่จะกลายเป็นขยะได้ในอนาคตกี่ชิ้นแล้ว?
หากเริ่มนับตั้งแต่ตื่นนอน ปรภ ต้องนับเริ่มที่ยาสีฟัน แปรงสีฟัน โฟมล้างหน้า ครีมอาบน้ำ ยาสระผม เครื่องสำอาง สเปรย์ฉีดตัว/ผม ซึ่งทุกอย่างรอบตัวของเราล้วนแล้วแต่กลายเป็นขยะในอนาคตได้ แม้กระทั่งจอสมาร์ตโฟนที่คุณใช้อ่านบทความนี้ หรือจอคอมพิวเตอร์ก็ตาม ลองมองดูรอบตัวรอบโต๊ะของคุณดูสิ ว่ามีสิ่งที่สามารถกลายเป็นขยะได้มากน้อยแค่ไหน…..มันใกล้ตัวมากกว่าที่คุณคิด
• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •

แม้ว่าการแยกขยะก่อนทิ้งเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่หลายคนก็ยังมองว่าไม่สำคัญ และมองปัญหาขยะเป็นเรื่องไกลตัว แต่ที่จริงแล้วปัญหาขยะเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิดเพราะคนไทยสร้างขยะมูลฝอยเฉลี่ย 1.14 กิโลกรัม ต่อคนต่อวัน (ข้อมูลปี 2559) หากคำนวณประชากรไทยที่ปัจจุบันมีเกือบ 70 ล้านคน นับได้ว่าเป็นปริมาณขยะที่มหึมา และหากคำนวณเป็นเดือน เป็นปี จำนวนขยะก็จะยิ่งทวีคูณ เห็นไหมว่ามันเยอะแค่ไหน?
วันนี้ ปรภ ขอนำเสนอวิธีการที่จะช่วยลดขยะที่พวกเราร่วมกันสร้างขึ้นในแต่ละวัน แต่ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักก่อนว่าสิ่งรอบตัวเรานี้ เมื่อกลายเป็นขยะแล้วจะถูกจำแนกในประเภทไหนบ้าง
ขยะอันตราย
ขยะที่มีองค์ประกอบหรือปนเปื้อนวัตถุอันตรายชนิดต่าง ๆ พบประมาณ 3% ของปริมาณขยะ แต่ส่งผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างมาก ต้องจัดการให้ถูกวิธีก่อนทิ้ง ทั้งนี้ขยะอันตรายมีสารปนเปื้อน ส่งผลต่อสุขภาพและชีวิต ก่อมะเร็ง เกิดโรคร้ายมากมาย การเผาขยะอันตรายหรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ทำให้โลหะหนักแพร่กระจายสู่ชั้นบรรยากาศและสะสมในห่วงโซ่อาหาร การฝังกลบแบบไม่ถูกต้องหรือการเก็บไว้ที่บ้านเฉย ๆ ก็ส่งผลร้ายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) จัดเป็นขยะอันตราย แต่หากได้รับการคัดแยกชิ้นส่วนและจัดการที่ดี จะกลายเป็นเหมือนแร่ในบ้าน เพราะเต็มไปด้วยโลหะมีค่า สามารถรีไซเคิลได้เกือบทั้งหมด ตั้งแต่น็อต แผงวงจร ซีพียู ฯลฯ นอกจากนี้กากที่เหลือจากการรีไซเคิลสามารถนำไปผลิตเป็นอิฐมวลเบาได้

วิธีจัดการกับขยะอันตราย
- ต้องทิ้งแยกจากขยะประเภทอื่นๆ
- รวบรวมใส่ถุงพลาสติก มัดให้แน่น ทิ้งในถังขยะอันตรายเท่านั้น
- ถ้าไม่มีถังขยะอันตราย รวบรวมใส่ถุงพลาสติกก่อนทิ้ง ระบุหน้าถุงว่า “ขยะอันตราย”
- หากมีจำนวนมากควรติดต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่กำจัดขยะหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมารับเพื่อนำไปจำกัดอย่างถูกวิธี
ขยะอันตรายที่เป็นของเหลว
- ต้องแยกประเภท ไม่เทรวมกัน เพราะสารเคมีอาจทำปฏิกิริยาได้
- ใส่ในภาชนะที่ไม่รั่วซึม อยู่ในที่ร่ม และพ้นมือเด็ก

ขยะอันตรายต้องแยกประเภทและป้องกันการแตกหักก่อนทิ้ง เพราะเสี่ยงปนเปื้อน ส่งผลกระทบรุนแรง เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ทุกชนิด ภาชนะบรรจุสารเคมี เช่น กระป๋องสีสเปรย์ ภาชนะบรรจุยาฆ่าแมลง หรือวัชพพืช ตลับหมึกเครื่องพิมพ์ วัตถุระเบิด วัตถุไวไฟ วัตถุมีพิษ วัตถุกัดกร่อน วัตถุที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง วัตถุกทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นเคมีภัณฑ์หรือใดๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
ขยะอินทรีย์ หรือขยะย่อยสลาย
ขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว สามารถนำมาหมักปุ๋ยได้ เช่น เศษอาหาร เนื้อสัตว์ กระดูกสัตว์ เปลือกไข่ เปลือกผลไม้ เศษกิ่งไม้ ใบไม้ ฯลฯ พบมากถึง 70% ของปริมาณขยะ ขยะมูลฝอยมีสารอินทรีย์เน่าเปื่อยปะปนอยู่ เป็นแหล่งเพาะโรค พาหะนำโรค ก่ออันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

วิธีจัดการกับขยะอินทรีย์
- รีดน้ำออกให้มากที่สุด (หรือให้แห้งที่สุด)
- พัน/ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ก่อนทิ้ง
- ไม่ควรใส่ถุงพลาสติกเพื่อทิ้ง เพราะคัดแยกยาก
- แยกส่วนที่เป็นของเหลวและของแข็งออกจากกันเพราะทำให้เกิดความชื้น เสี่ยงปนเปื้อนสูง
- น้ำมันพืชใช้แล้ว ใส่ขวดหรือภาชนะ แยกทิ้งจากขยะอื่น ๆ เพื่อไม่ทำให้ขยะในกองสกปรก และยากต่อการจัดการ ไม่ควรเททิ้งท่อระบายน้ำเด็ดขาด เพราะเป็นตัวการสำคัญให้ท่อระบายน้ำอุดตันและส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์
ขยะทั่วไป
ขยะประเภทอื่นๆ มีลักษณะย่อยสลายยาก ไม่คุ้มต่อการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น ห่อพลาสติกขนมขบเคี้ยว ลูกอม ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถุง/ซองบรรจุผงซักฟอก ถุงพลาสติก กล่องโฟม ฟอยล์เปื้อนอาหาร ถุงดำ ฟิล์มห่ออาหาร ถ้วยกาแฟกระดาษ จานชามเมลามีน ของเล่น ตุ๊กตา หนังสัตว์ ฯลฯ พบประมาณ 3% ของปริมาณขยะ

วิธีจัดการกับขยะทั่วไป (รีไซเคิลไม่ได้)
- ถ้าเปื้อนควรล้างก่อนทิ้ง
- แยกส่วนที่เป็นโลหะออก
- แยกใส่ถุง ทิ้งลงถังขยะทั่วไป
- หากไม่มีถังขยะแบบแยกประเภท ควรระบุหน้าถุงให้ชัดเจนว่าข้างในเป็นอะไร
ขยะรีไซเคิล
ขยะที่ยังนำกลับใช้ประโยชน์ใหม่ได้ โดยนำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต พบมากเป็นอันดับ 2 หรือประมาณ 30 % ของปริมาณขยะ
ขยะรีไซเคิล ควรทำความสะอาดก่อนทิ้ง แยกใส่ถุง แสดงหน้าถุงให้ชัดเจน หากคัดแยกขยะรีไซเคิลจะขายได้ราคาดีขึ้น ประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลขึ้นอยู่กับการคัดแยกที่ต้นทาง ขยะยิ่งสะอาดยิ่งรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการจะทิ้งขยะแต่ละครั้งจะต้องคิดก่อนทิ้ง เพราะขยะรีไซเคิลมีค่ากว่าที่คิด เช่น แก้ว กระดาษ เศษพลาสติก กล่องเครื่องดื่ม UHT กระป๋องเครื่องดื่ม เศษโลหะ อะลูมิเนียม ยางรถยนต์ ฯลฯ

นอกจากนี้ขยะรีไซเคิลสามารถนำมาดัดแปลงแก้ไข หรือนำไปใช้ต่อให้เกิดประโยชน์ได้อีกมากมาย ซึ่งระบบแยกขยะของประเทศไทยไม่มีประสิทธิภาพ ขาดการคัดแยกขยะที่ต้นทาง ทำให้นำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ได้น้อยกว่า 20% ของปริมาณขยะทั้งหมด ดังนั้นการแยกขยะรีไซเคิลออกจากขยะอื่น ๆ จะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศได้มากกว่าที่คิด
เกร็ดความรู้ วิธีจัดการกับน้ำมันปรุงอาหาร
การเทลงท่อระบายน้ำเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ท่อระบายน้ำอุดตัน แถมส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ น้ำมันใช้แล้วอาจนำไปใช้ซ้ำอีก 1 ครั้ง (reuse) หรือนำไปแปรรูป (recycle) เพิ่มมูลค่าได้ แต่จำเป็นต้องมีการจัดการที่ถูกต้องดังนี้
- ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น
- กรองใส่ในภาชนะ โดยใช้ที่กรองเศษอาหาร กรองเอาสิ่งสกปรกและเศษอาหารออกให้หมด
- แช่ในช่องฟรีซ หรือเก็บในพื้นที่เย็นชื้น ให้น้ำมันแข็งตัว ง่ายต่อการทิ้งลงถังขยะ

สรุป
การไม่สร้างขยะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด แต่ทำได้ยาก ดังนั้น “การคัดแยกขยะที่ต้นทาง” อย่างถูกต้อง คือหัวใจสำคัญของการแก้ปัญหาที่จะช่วยให้ระบบจัดการขยะมีประสิทธิภาพ ทั้งยังสะดวกในการจัดเก็บ ลดต้นทุนในการรีไซเคิล นอกจากนี้ขยะบางชนิดยังสามารถนำไปเพิ่มมูลค่าได้อีกด้วย
• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ข้อมูลจากนิทรรศการ “GO Zero WASTE ชีวิตใหม่ ไร้ขยะ” และเฟซบุ๊กเพจ Greenery
บทความน่าอ่านต่อ
บทความล่าสุดในหมวด Lifestyle
• • •
• • •
[…] ขยะ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว […]
[…] ขยะ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว […]