ผมถูกคุกคามทางเพศ

“...ผมสัมผัสได้ว่ามีอะไรมาโดนเป้ากางเกง แต่คิดว่าเป็นกระเป๋า จนกระทั่งสิ่งนั้นมันเสียดสีต่อเนื่อง เหมือนว่าโดนลูบเป้าอยู่ก็เลยเบี่ยงตัวหันข้าง แต่ด้วยสภาพแออัดบนเรือโดยสารเวลา 5 โมงเย็นหลังเลิกงาน ทำให้ขยับหนีไม่ได้มาก พอลงเรือก็ถูกเดินตามจนต้องรีบขึ้นรถกลับบ้านทันที ผมไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้เพราะผมเป็นผู้ชาย และอีกฝ่ายก็เป็นผู้ชายเหมือนกัน...”

“…ผมสัมผัสได้ว่ามีอะไรมาโดนเป้ากางเกง แต่คิดว่าเป็นกระเป๋า จนกระทั่งสิ่งนั้นมันเสียดสีต่อเนื่อง เหมือนว่าโดนลูบเป้าอยู่ก็เลยเบี่ยงตัวหันข้าง แต่ด้วยสภาพแออัดบนเรือโดยสารเวลา 5 โมงเย็นหลังเลิกงาน ทำให้ขยับหนีไม่ได้มาก พอลงเรือก็ถูกเดินตามจนต้องรีบขึ้นรถกลับบ้านทันที ผมไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้เพราะผมเป็นผู้ชาย และอีกฝ่ายก็เป็นผู้ชายเหมือนกัน…”

การคุกคามทางเพศในปัจจุบันไม่มีข้อจำกัดทางเพศ ไม่ว่าเพศไหนก็ถูกลวนลามหรือคุกคามได้ โดย 45% เกิดขึ้นบนขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถทัวร์ รถเมล์ รถแท็กซี่ รถไฟฟ้า เรือโดยสาร เครื่องบิน ฯลฯ

• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •
Photo by Manki Kim on Unsplash
People in public transport

การคุกคามทางเพศ หรือที่เรียกว่า การลวนลามทางเพศ  หมายถึง การกระทำหรือแสดงออกในทางเพศ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมผ่านการใช้สายตา ท่าทาง เสียง คำพูด ร่างกาย หรือสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ ทำให้ผู้ที่ตกเป็นเป้ารู้สึกเดือดร้อน อึดอัด ไม่พอใจ และรู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งในช่วงเวลาเร่งด่วนที่มีผู้โดยสารหนาแน่น หรือช่วงที่ผู้โดยสารบางตา ทั้งกลางวันและกลางคืน รวมทั้งอาจเกิดขึ้นบริเวณป้ายรถเมล์ ชานชาลา ท่ารถ ท่าเรือ สถานีขนส่ง หรือสนามบินได้ด้วย

การคุกคามทางเพศมีอะไรบ้าง

  1. การคุกคามด้วยสายตาหรือท่าทาง เช่น จ้องมองร่างกาย ใช้สายตาแทะโลม ทำท่าทางเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงอวัยวะเพศ ความต้องการทางเพศ หรือการร่วมเพศ
  2. การคุกคามด้วยวาจา เช่น ผิวปากใส่ พูดแซว พูดเกี้ยวพาราสี พูดแบบหมาหยอกไก่ พูดสองแง่สองง่าม พูดตลกลามก หรือชวนพูดคุยในลักษณะที่ทำให้คนฟังอึดอัด เช่น ซักไซ้เรื่องส่วนตัว พูดพาดพิงถึงรูปร่างหน้าตาและการแต่งกาย ชวนพูดคุยเรื่องเพศทั้งที่พูดลอย ๆ ให้ได้ยิน หรือพูดกับผู้ที่ตกเป็นเป้าโดยตรง
  3. การคุกคามทางร่างกาย มีหลายระดับความรุนแรง ตั้งแต่การแตะเนื้อต้องตัว แต๊ะอั๋ง ลูบไล้ โอบกอด หอม ใช้ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายสัมผัสถูไถ รวมทั้งการเดินตาม สะกดรอยตาม โชว์อวัยวะเพศ สำเร็จความใคร่ให้ผู้อื่นเห็น หรืออาจรุนแรงจนถึงขั้นพยายามข่มขืน หรือข่มขืน
  4. การคุกคามผ่านช่องทางการสื่อสาร หรือทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่น่าอึดอัดในเรื่องเพศ เช่น แอบถ่ายภาพผู้โดยสารคนอื่น ถ่ายภาพช้อนใต้กระโปรงหรือหน้าอก เปิดรูปภาพ คลิปวิดีโอ หรือภาพยนตร์ลามกอนาจารบนโทรศัพท์มือถือให้คนข้างๆ เห็น
Photo by Icons8 Team on Unsplash

ตัวอย่างเหตุการณ์

“…เคยมีผู้ชายเอาเป้ามาเบียดตอนนั่งบนรถเมล์ค่ะ…” คุณพี นามสมมติ เล่าถึงประการณ์ถูกคุกคามทางเพศบนรถเมล์ให้ฟังว่า ขณะที่กำลังนั่งเล่นโทรศัพท์อยู่บนรถเมล์ รู้สึกแถวๆ ไหล่ตนมีอะไรบางอย่างมาถู เมื่อเงยหน้ามองก็เห็นผู้หญิงตรงหน้าส่งสัญญาณบอกด้วยสายตาว่ากำลังถูกลวนลาม จนกระทั่งผู้ชายคนดังกล่าวลงจากรถไป จึงได้รู้ว่าเขาเอาเป้ากางเกงมาถูที่ไหล่เพราะพบคราบขาวๆ เป็นจุดที่เสื้อของตน เหตุการณ์นั้นคุณพีไม่รู้ตัว จึงทำให้ไม่ได้มีท่าทีที่ตอบโต้แต่อย่างใด

อีกหนึ่งการถูกคุกคามบนรถไฟฟ้า คุณโรจ นามสมมติ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนรถไฟฟ้าว่า ตนยืนติดกับประตูแล้วหันหน้าออกดูวิว หลังจากนั้นถูกเบียดจากด้านหลังและสัมผัสได้ว่าถูกใช้เป้าเบียดกับก้นของตนเอง สัมผัสได้เกิดการแข็งตัวในคู่กรณี บวกกับลมหายใจที่เริ่มแรงขึ้นจนได้ยิน “…ตอนนั้นตกใจทำอะไรไม่ถูก พอรถไฟฟ้าจอดจึงรีบลงมาตั้งสติ เพราะไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องกับตัวเอง แม้ว่าจะรู้ว่าควรตะโกนขอความช่วยเหลือหรือบอกให้หยุด แต่พอเจอเข้าจริง ๆ สติมันไม่อยู่กับตัว…” คุณโรจเล่าให้ฟัง พร้อมบอกให้ทุกคนตั้งสติให้ดีเมื่อเจอกับเหตุการณ์แบบนี้

Gay couple
Gay couple

แม้ว่าทุกคนจะรู้ว่าควรทำอย่างไรเมื่อถูกคุกคาม แต่ด้วยความเขินอาย รวมถึงไม่มีหลักฐานชี้ชัด ทำให้ไม่กล้าที่จะกระทำการใด ๆ นอกจากนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์จริงหลายคนมักจะไม่มีสติ ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าควรทำอย่างไร

5 วิธีเผือก เมื่อเจอเหตุการณ์คุกคามทางเพศ

  1. ใช้เสียง ด้วยการตะโกนออกมา ชักชวนให้คนรอบข้างเห็นและตั้งคำถามกับพฤติกรรม
  2. แจ้งเจ้าหน้าที่ ให้พนักงานบนรถช่วยจัดการ
  3. เอาตัวเข้าแทรก ด้วยการเดินเข้าไปยืนแทรกกลาง เพื่อคั่นระหว่างผู้คุกคามและผู้ที่ถูกคุกคาม
  4. ทำเนียนว่ารู้จัก ด้วยการเข้าไปทักทายเหมือนว่าเป็นเพื่อน และชวนคุยจนผู้ที่คุกคามถอยห่าง
  5. ถ่ายคลิป เพื่อใช้เป็นหลักฐานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

จากประสบการณ์ข้างต้น หลายคนมักจะไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร รวมถึงเมื่อเผชิญกับผู้คุกคามมักจะตกใจจนไม่มีสติจะรับมือจากภัยคุกคาม สำหรับวิธีเอาตัวรอดจากการถูกคุกคามทางเพศสามารถทำได้ดังนี้

วิธีป้องกันตัวจากการคุกคามทางเพศ

  1. ตั้งสติให้ดี และแสดงออกว่าคุณรู้ตัวและไม่ยินยอม
  2. ให้ลุกเดินหนีจากที่นั่ง
  3. ส่งเสียงขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

หากถูกผู้คุกคามใช้กำลัง ให้ใช้ไฟฉาย ปากกาหรือขวดน้ำเพื่อป้องกันตัวเอง โดยให้ใช้วิธีนี้เป็นทางเลือกสุดท้าย และใช้ในกรณีที่ผู้กระทำใช้กำลังหรือถูกทำให้จนมุม

man using smartphone
man using smartphone

สรุป

ผู้ถูกกระทำหลายคนไม่กล้าเปิดปาก บางคนกลัวและอาย หรือไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร? จนที่สุดแล้วรู้สึกหวาดระแวงทุกครั้งเมื่อต้องใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ทั้งที่เราทุกคนมีสิทธิที่จะได้อยู่อาศัยในเมืองที่ปลอดภัย (Rights to the City) ซึ่งการเดินทางโดยใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ก็ควรทำได้อย่างปลอดภัยเช่นกัน มาร่วมกันผนึกพลังเพื่อสังคมที่น่าอยู่และปลอดภัย อย่าเงียบ อย่านิ่งเฉย เพราะการถูกคุกคามทางเพศอาจเกิดขึ้นกับตัวคุณก็ได้

• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •

เรื่องโดย ปรภ ไม่ใช่ รปภ

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ข้อมูลบางส่วนจากคู่มือเผือก โดย เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง
ให้สัมภาษณ์โดยผู้เคยถูกคุกคามทางเพศบนขนส่งสาธารณะ

บทความน่าอ่านต่อ


บทความล่าสุดในหมวด Lifestyle

• • •

หลักจิตวิทยา สร้างคำตอบรับจากผู้ฟัง

• • •


2 Comments

Leave a Reply

%d bloggers like this: