“ของมันต้องมี” มักเป็นประโยคที่เราหยิบมาใช้เป็นเหตุผลในการซื้อของที่ไม่จำเป็น แม้ว่ามันจะแพงกว่าปกติ แต่เป็นเพราะความอยากได้อยากมี หรือความต้องการที่จะมี ล้วนแล้วแต่เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์อย่างหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้
• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเห็นเพื่อนมี เพราะเพื่อนก็นับเป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเรา การมีนิสัยติดเพื่อน หรือมีนิสัยตามเพื่อนในช่วงวัยรุ่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก การไปเที่ยวกับเพื่อน ไปกินข้าว ซื้อของ การแต่งกาย รวมไปถึงสิ่งของต่าง ๆ ที่เชื่อมเรากับเพื่อนคล้ายคลึงกัน ทำให้หลายครั้งเรามีความต้องการอยากได้อยากมีเหมือนเพื่อนเพื่อให้เกิดการยอมรับจากกลุ่ม
จึงเกิดคำถามว่า…
สรุปแล้ว เราจะซื้อสินค้านั้นเพื่อนำมาใช้งาน
หรือเอาไว้อวดเพื่อนกันแน่?
เมื่อพูดถึงความอยากได้อยากมี หรือความต้องการ มันคือระดับความต้องการที่ทุกคนมีได้ เมื่อดูจากทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of need) ที่ได้จัดลำดับความต้องการของคนเราเอาไว้ 5 ระดับ ดังนี้

ลำดับความต้องการของมาสโลว์
- ความต้องการทางร่างกาย (Physiological Needs)
คือ ความต้องการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ความต้องการอาหาร น้ำ การนอนหลับ อากาศ เป็นต้น - ความต้องการด้านความปลอดภัย (Safety Needs)
คือ ความต้องการความมั่นคงปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นอิสระจากความกลัว ขู่เข็ญ บังคับ จากผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม - ความต้องการการยอมรับ (Love and Belonging Needs)
คือ ความต้องการทางด้านสังคม ต้องการได้รับความรัก มิตรภาพ การเข้าร่วมและการยอมรับของกลุ่ม เช่น เราเลือกเสื้อผ้าโดยเลือกยี่ห้อที่กลุ่มเพื่อนเรานิยม เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากกลุ่ม - ความต้องการการยกย่อง (Esteem Needs)
คือ ความต้องการที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกนับถือตนเอง ภูมิใจในตนเอง ต้องการให้ผู้อื่นเห็นคุณค่า ต้องการให้ผู้อื่นเห็นว่าตนมีความสามารถ มีคุณค่า และมีเกียรติ - ความต้องการความสมหวังในชีวิต (Self-actualization Needs)
คือ ความต้องการที่จะรู้จักและเข้าใจตนเอง เพื่อพัฒนาชีวิตของตนเองให้สมบูรณ์ กระบวนการที่จะพัฒนาตนเองตามศักยภาพ เป็นกระบวนการที่ไม่มีจุดจบ
สำหรับความอยากได้อยากมี
อยู่ในขั้นของความต้องการการยอมรับ
(Love and Belonging Needs)

เพราะของมันต้องมี บ่อยครึ่งเราจึงต้องการที่จะมีเหมือนเพื่อนเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากกลุ่ม ซึ่งหากความต้องการนั้นอยู่เหนือการควบคุม จะทำให้เราต้องรู้สึกลำบากใจหรือรู้สึกทุกข์เมื่อไม่มีเหมือนเพื่อน ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเรา เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้แนะนำวิธีปฏิบัติกรณีที่เราอยู่ในภาวะ “อยากมี อยากได้” เอาไว้ดังนี้
การรับมือเมื่ออยากได้อยากมี
- ฝึกมองข้อดีของตัวเอง
จะทำให้เรารู้สึกมั่นใจ แม้จะเป็นข้อดีคนละด้านกับผู้อื่น แต่เราต้องบอกตัวเองเสมอว่า ฉันมีดีในเรื่องนี้ - อย่ามัวแต่ตามเพื่อน
ควรหาอะไรทำให้มีความสุข เพราะทุกคนต้องมีโลกของตัวเอง ไม่ใช่เอาโลกของเราไปซ้อนกับคนอื่นตลอดเวลา - ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด
ให้นึกเสมอว่าปัจจุบันเรามีเพียงเท่านี้ และต้องย้ำกับตัวเองว่าถ้าฉันทำดีที่สุดแล้ว ก็จำเป็นต้องมั่นใจ

มันไม่ใช่ความผิดที่เราอยากได้อยากมี เพราะทุกคนต้องการการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน แต่หากมากเกินไปเราจะไม่มีความสุข และไม่มีความเป็นตัวเอง
ความอยากได้อยากมีของเราควรอยู่บนความพอดี มองหาข้อดีของตัวเองแล้วดึงมันออกมาใช้อย่างมีศักยภาพ เพราะทุกคนมีข้อดีเป็นของตัวเองที่ทุกคนอยากนำไปเป็นต้นแบบ
แม้ว่าเพื่อนจะเป็นคนที่อยู่กับเราในหลาย ๆ เหตุการณ์ในชีวิต แต่ครอบครัวยังเป็นสถาบันที่เข้มแข็งและอยู่กับเราชั่วชีวิต หากมีปัญหาที่เรารู้ว่าเพื่อนไม่สามารถช่วยเหลือได้ การปรึกษาครอบครัวจะเป็นอีกหนึ่งออกที่จะช่วยให้วัยรุ่นสามารถผ่านพ้นช่วงวิกฤตไปได้

สรุป
ความอยากได้อยากมี มีได้ แต่ไม่ควรยึดติด เพราะจะทำให้เราไม่มีความสุขและจะส่งผลต่อสุขภาพจิต อย่ามัวแต่กังวลว่าเพื่อนจะไม่ยอมรับให้เข้ากลุ่ม เพราะหากเป็นเพื่อนกันจริง ไม่ว่าเราจะเป็นคนยังไง ก็ย่อมรับกันได้ ลองมองย้อนกลับมาที่ตัวเอง ว่าเราสูญเสียกันไปเท่าไหร่แล้วกับคำว่า “ของมันต้องมี”
• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ให้สัมภาษณ์โดยพญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
บทความล่าสุดในหมวด Lifestyle
• • •
• • •
[…] รับมืออย่างไร เมื่อของมันต้องมี […]