ความบอบบางของหัวนมนักวิ่ง

ใครจะคิดว่าหนึ่งในปัญหาของนักวิ่งคืออาการบาดเจ็บที่หัวนม? มาทำความรู้จักความบอบบางของหัวนมและป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดจากการวิ่ง

ใครจะคิดว่าหนึ่งในปัญหาของนักวิ่งคืออาการบาดเจ็บที่หัวนม? มาทำความรู้จักความบอบบางของหัวนมและป้องกันการบาดเจ็บที่อาจเกิดจากการวิ่ง

• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •
Sport man
Sport man

เรื่องนี้ หมอบัว หรือ นายแพทย์วิษณุ โล่ห์สิริวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์โรงพยาบาลศิริราช สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย ได้เล่าว่า ตนมีโอกาสรับหน้าที่กึ่งแพทย์สนามดูแลนักวิ่ง โดยมีคนมาถามหาพลาสเตอร์

“หมอรึเปล่าครับ มีพลาสเตอร์ไหมครับ”
“ใช่ครับผม มีครับ”

หมอบัวก้มหยิบพลาสเตอร์ในเป้ และมองไปนักวิ่งนั้น เงยหน้าขึ้นมาพบว่านักวิ่ง ไม่ได้เปิดข้อเท้าหรือหัวแม่โป้งเท้าแต่อย่างใด แต่กำลังเปิด … หัวนม … โดยเรียกอาการนี้ว่า #chafingnipple แปลว่า ถูเสียดสีจนร้อน หรือ #runnernipple ที่แปลตรง ๆ ว่าหัวนมนักวิ่ง หมอบัวจึงได้สรุป 10 ข้อต้องรู้ เกี่ยวกับหัวนมนักวิ่งเอาไว้ดังนี้

10 ข้อต้องรู้ หัวนมนักวิ่ง

1. กายวิภาคของหัวนมและลานนมต่างจากผิวหนังส่วนอื่น

ลานหัวนมจะมีต่อมไขมัน ต่อมเหงื่อ และเส้นประสาทไวต่อความรู้สึกมากกว่า และยังมีส่วนของกล้ามเนื้อพิเศษ ทำให้ถูกกระตุ้นหดขยายได้ ส่วนปลายหัวนมนั้นเป็นที่รวมท่อน้ำนมแต่ไม่มีต่อมเหงื่อ

Man
Man

2. หัวนมนูนตั้งเกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อลานหัวนมและหัวนม

การหัวนมนูนตั้งจะทำให้เกิดการเสียดสีกับเสื้อวิ่ง หรือเสื้อใน ยิ่งพอมีเหงื่อ ผิวหนังยิ่งชื้น ยิ่งอ่อนนุ่ม เสื้อชุ่มเหงื่อยิ่งหนักยิ่งรั้ง เสียดสีหัวนมมากขึ้น ยิ่งอากาศเย็นยิ่งพบบ่อยเพราะหัวนมยิ่งตั้งนะ (ซ้อมตอนเย็น ๆ อาจไม่ค่อยเจอ แต่มักจะชูชันตอนเช้าเพราะอากาศเย็นกว่า)

3. ไม่เกี่ยวกับขนาดเต้านม

อาการ chafing/runner nipple ส่วนใหญ่มักพบในผู้ชาย แม้ว่าหัวนมผู้ชายและเต้านมจะเล็กกว่าก็ตาม ผลจากการศึกษาบางเรื่องพบว่า คนที่วิ่งเกิน 50 กิโลเมตรต่อสัปดาห์ถึง 1 ใน 3 ต้องเคยเป็น รวมทั้งนักปั่นก็มีรายงานในเรื่องนี้เช่นกัน

4. อาการเริ่มต้นมักจะแสบ ๆ คัน ๆ เสียว ๆ เจ็บ ๆ

อาการเริ่มต้นมักจะแสบ ๆ คัน ๆ เสียว ๆ เจ็บ ๆ จนสุดท้ายถลอก โดยแผลถลอกที่หัวนมโดนเหงื่อจะยิ่งเพิ่มความแสบความคัน หากปล่อยทิ้งไว้จนอาการหนักจะมีอาการเลือดออกจากหัวนม bleeding bloody nipple

shirtless man lay on bed
Man

5. การรักษาขณะวิ่ง

หากเกิดอาการดังกล่าวแนะนำให้นำพลาสเตอร์มาแปะหัวนมชั่วคราวเพื่อป้องกันการเสียดสี หรืออาจทาวาสลีน นอกจากนี้การถอดเสื้อวิ่งก็เป็นอีกตัวช่วย บางคนอาจใช้วิธีเจาะฉีกรูเสื้อตรงหัวนม แม้ว่านี่จะไม่ใช่การรักษาเยียวยา แต่มันคือการดูแลรักษาอาการไม่ให้แย่ลงขณะวิ่ง เพราะคุณคงไม่อยากหยุดวิ่งเพียงเพราะอาการเจ็บหัวนมหรอก จริงไหม?

6. การรักษาหลังวิ่งเสร็จ

ใครเคยเป็นจะรู้ว่า การอาบน้ำแบบทรมานหัวนมนั้นเป็นอย่างไร อาบไป ทั้งเจ็บ ทั้งแสบ ดังนั้นจึงควรอาบน้ำด้วยน้ำอุ่น และใช้สบู่อ่อน ๆ แต่หากมีแผลตรงหัวนมควรปิดพลาสเตอร์แบบกัดน้ำ หรือทาครีมขี้ผึ้ง หรือใช้ปรึกษาการใช้ยาจากแพทย์ โดยจะต้องรักษาตามสภาพของอาการและป้องกันไม่ให้อาการแย่ลง โดยจะใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 วันนะกว่าผิวหนังใหม่จะสร้างและอาการแสบนมจะดีขึ้น แต่หากมีอาการแสบลึกอาจใช้เวลาพักฟื้นหัวนมเป็นสัปดาห์

shirtless man with tattoo
Nipple

7. กันหัวนมไว้ดีกว่าแก้

การป้องกันหัวนมไม่ให้บาดเจ็บมีด้วยกันหลายวิธี เพราะการลดขนาดของหัวนม หรือไม่ให้หัวนมตั้งจะเป็นไปได้ยาก การป้องกันจึงมีดังนี้

  • ทาวาสลีน หรือเจลหล่อลี่นก่อนวิ่ง
  • แปะพลาสเตอร์ หรือใช้ที่แปะหัวนมของผู้หญิง (nipple shield) แต่ข้อเสียคือ หากวิ่งในระยะทางนาน ๆ หรือเหงื่อออกเยอะจะทำให้หลุดออกได้
  • ทาแป้ง เพราะแป้งจะช่วยดูดซับความชื้น ไม่ควรใช้แป้งเย็น
  • เลือกเสื้อที่เหมาะสม ทั้งเนื้อผ้า ขนาด ทั้งนี้ควรซ้อมใส่ด้วยเสื้อตัวเดิมที่จะใช้ลงวิ่ง
  • สภาพอากาศ ความชื้นน้อย ระยะมาก ๆ ควรระวัง เนื่องจากมีผลการรายงานพบอาการเกิดกับผู้ที่วิ่งในระยะทางที่นาน และผู้ที่ใส่เสื้อผ้าหลวมเกินไป

8. แพทย์สนามควรพกกระปุกหรือหลอดวาสลีน

คอยช่วยเหลือและรักษาอาการเบื้องต้นกรณีพบผู้ที่มีอาการหัวนมนักวิ่ง

9. 18+ สำหรับนักวิ่งหญิง

กรณีผู้หญิงที่มีน้ำออกจากหัวนม ไม่ว่าจะด้วยการออกมาเองหรือจากการบีบ ควรรีบพบแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการของเนื้องอกในท่อน้ำนม หรือมะเร็งเต้านม นักวิ่งหญิงจึงควรตรวจเต้านมทุกเดือนเพื่อความปลอดภัย
นอกจากนี้หากผู้หญิงที่เกิดแผลที่หัวนม (nipple fissure) หรือลานหัวนม (areola ulcer) หรือบริเวณผิวหนังเต้านม แม้จะไม่เจ็บอย่านิ่งนอนใจ อาจไม่ใช่เป็นแค่เชื้อราหรือ ผิวหนังอักเสบ ผื่นภูมิแพ้ความอับชื้นอย่างที่คิด แต่อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งเต้านม

สำหรับผู้ที่ทำศัลยกรรมเสริมหน้าอก สามารถวิ่งได้อย่างปกติ แต่ควรระมัดระวังขณะแกว่งแขน และแนะนำให้หยุดพักการวิ่งอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์ โดยก่อนกลับมาวิ่งให้เดินเบา ๆ และค่อย ๆ เพิ่มระดับความเร็วขึ้น รวมทั้งการใส่ซัพพอร์ต หรือสปอร์ตบราที่กระชับพอดี

Man with Mask
Man with Mask

10. หัวนมนักวิ่ง แม้จะเล็กแต่ทำเรื่องใหญ่

แม้ว่าปัญหาของหัวนมจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ก็ทำให้นักวิ่ง DNF (Did Not Finish แปลตรงตัวว่า วิ่งไม่จบ) ดังนั้นจึงควรป้องกัน ทา หรือแปะหัวนม ใส่เสื้อที่ฟิตพอดีก่อนออกไปวิ่งหรือไปซ้อมอย่างมีความสุข ทั้งนี้นักวิ่งที่มีปัญหาเดียวกันบริเวณขาหนีบ ต้นขาใน สายบรา หรือรักแร้ ก็สามารถใช้หลักป้องกันและรักษาเดียวกันได้

รู้แบบนี้แล้ว นักวิ่งอย่าลืมดูแลหัวนมของตัวเองก่อนออกวิ่งนะครับ

• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ข้อมูลบางส่วนจากเฟซบุ๊ก เพื่อสองเต้าที่เท่ากัน by Dr Bua

บทความน่าอ่านต่อ

2 Comments

Leave a Reply

%d bloggers like this: