หลายคนอาจคุ้นหูกับประโยคที่ว่า “เหล้าเป็นตัวนำในการเข้าสังคม” เพราะงานบุญประเพณี งานรื่นเริงหรืองานเลี้ยงฉลองส่วนใหญ่มักจะมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นตัวชูโรงให้ผู้คนมาพบเจอกัน แต่นั่นเป็นเพียงความคิดหรือมายาคติที่ถูกสร้างขึ้น ซึ่งการจัดงานเลี้ยงที่ไร้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถทำได้ หากทุกคนหนักแน่นที่จะจัดมันขึ้นมา
• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •

“…งานเลี้ยงหากไม่มีเหล้ามันจะไปสนุกอะไร…” วลีฮิตที่หลายคนมักพูดติดปากเมื่อไปร่วมงานเลี้ยงฉลองงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ งานบุญบั้งไฟ งานบวช งานเลี้ยงวันเกิด รวมไปถึงงานมงคลสมรสหรืองานแต่งงาน เพราะสังคมในยุคปัจจุบันมองว่า “ต้อง” ใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการดื่มเฉลิมฉลองงานเลี้ยง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วความคิดชุดนี้ถูกสร้างขึ้นมาเป็นวัฒนธรรมทางสังคม
“…แอลกอฮอล์เป็นสิ่งเสพติดที่อันตรายที่สุด เพราะผลเกิดจากการดื่มกระทบรวมไปถึงสังคมเศรษฐกิจ ความสงบเรียบร้อย…”
นอกจากผลกระทบต่อสุขภาพผู้ดื่มแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสังคมส่วนรวม เพราะในการเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละครั้ง ส่งผลกระทบไปยังคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ดังนั้นหากลดการดื่มได้ ก็จะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ลง
การดื่มเหล้าเพื่อเข้าสังคม อาจเป็นการดื่มเหล้าเพื่อทำลายสังคม เพราะผลกระทบจากการดื่มนั้นมีมากกว่าประโยชน์แล้วแบบนี้จะทำอย่างไร หากจัดงานที่ปลอดเหล้า?

งานบุญปลอดเหล้า
การบวชเพื่อทดแทนคุณพ่อแม่ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ครอบครัวชาวพุทธแสดงความยินดี หลายครั้งจึงมีการจัดงานเลี้ยงฉลองก่อนวันเข้าอุปสมบทด้วยการจัดโต๊ะจีน เชิญเพื่อนบ้านและเครือญาติมาร่วมแสดงความยินดี โดยการใช้ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” เป็นตัวเรียกแขก จึงเกิดเป็นคำถามว่า “หากจัดงานบุญไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีผู้มาร่วมงานหรือไม่?”
จากประสบการณ์ของผู้ที่ผ่านการจัดงานบวชปลอดเหล้า นายเชาวลิต เนียมศร เล่าให้ฟังว่า ตนตั้งใจเพียงแค่บวชให้กับพ่อแม่ จึงอยากจะจัดงานบวชปลอดเหล้า แต่พอใกล้วันงานก็มีญาติมาถามว่า “…ทำไมถึงไม่มีเหล้า หากไม่มีก็จะไม่มาร่วมงานนะ…” ซึ่งตนมองว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ต่อให้ถูกตำหนิก็ไม่สนใจ และงานบวชปลอดเหล้าก็ดำเนินการผ่านมาอย่างราบรื่น ถือเป็นงานบุญที่ไม่มีสิ่งอบายมุขมาปนเปื้อน ถือเป็นการบวชที่ได้บุญอย่างเต็มที่

สุราเมรยมัฌชปะมาทัตถานาเวรมณี
“…ผมมองว่าศีลข้อ 5 เป็นศีลข้อที่ดีที่สุด เพราะหากเรารักษาศีลข้อนี้ได้ก็จะรักษาศีลข้ออื่นได้เช่นกัน เพราะหากเราดื่มเหล้าจะทำให้เราสามารถทำสิ่งที่ผิดบาป อาจเป็นการทำร้ายเพื่อน ลักเล็กขโมยน้อย พูดโกหก หรือไปผิดลูกผิดเมียคนอื่น ดังนั้นการรักษาศีลข้อ 5 จะช่วยยับยั้งให้รักษาศีลข้ออื่นได้เช่นกัน…” นายเชาวลิต กล่าว
พระปัญญานันทมุณี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ เล่าถึงครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช ที่ไม่มีการลงทุน ไม่มีงานเลี้ยงฉลอง เมื่อเทียบกับการบวชในปัจจุบันมีการลงทุนกว่า 2-3 แสน จัดงานเพื่อเรียกร้องหาเบียร์หาเหล้า แต่กลับไม่มีใครเรียกร้องหาคำว่า “บวช” ที่แท้จริงที่แปลว่า “งดเว้น” การบวชคือการงดเว้นไม่ทำให้ตัวเองตกต่ำ ผู้ที่มาร่วมงานบวชก็ควรละเว้นอบายมุข เพราะถือเป็นสิ่งที่ทำให้ตกอยู่ใน “อุบาย”

รวมถึงการไปร่วมพิธีปลงผมนาคที่แสดงให้เห็นว่าถึงการละ หรือตัดของที่ตนหวงแหนได้ การตัดภาระ ตัดโกรธ ตัดโลภ ตัดหลง ตัดอิจฉาพยาบาท ตัดน้ำเมาและสิ่งเร้า ผู้ที่มาร่วมพิธีจะต้องตัดให้ได้เช่นเดียวกับนาค หากผู้ที่ยังละไม่ได้ก็ไม่ควรที่จะไปร่วมตัดหรือโกนหัวให้นาค
“…ผู้ที่มาบวชก็คือเป็นผู้เป็นคนแล้ว โกนหัวก็เป็นนาคแล้ว ประเสริฐแล้ว ญาติโยมมาร่วมบวชก็คือผู้ที่มาร่วมให้การบวชเป็นการบูชาต่อพระพุทธเจ้า ไม่ใช่การมาย่ำยี แล้วมาจัดขบวนกันใหญ่โตมโหฬาร อยากให้หยุดสิ่งเหล่านั้น ถ้างานบวชหยุดสิ่งที่เป็นอบายมุขทั้งหลาย ท่านได้บุญแล้ว ยิ่งถ้าท่านเป็นคนฝึกฝนตนเองให้อยู่สมกับการบวช งดเว้นที่ควรงดควรเว้นได้ ท่านก็เป็นผู้ที่ประเสริฐในการบวชแล้ว ขอให้การบวชจงเป็นการบวชที่บริสุทธิ์ สิ่งที่แอบแฝงทั้งหมดไม่ใช่วิถีของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่เคยมีคำสอนไว้ ให้เห็นว่าการบวชคือการมั่วสุม…”

จากงานบวช สู่งานแต่งปลอดเหล้า
หลังจากจัดงานบวชปลอดเหล้าก็มาต่อกันที่การจัดงานแต่งงานที่ปลอดเหล้า ซึ่ง เชาวลิต บอกว่ามันเป็นอะไรที่ยากกว่างานบวช เพราะตอนบวชยังอ้างการเข้าสู่ทางธรรม การรักษาศีลได้ แต่พอถึงงานแต่งงานที่เป็นงานเลี้ยงรื่นเริงจึงมีอุปสรรคเล็กน้อย
หลังจากที่ประกาศออกไปว่าจะแต่งงาน และจัดงานเลี้ยงที่ปลอดเหล้าทำให้เกิดการตั้งคำถามกันในหมู่เครือญาติว่า “…ทำไมถึงไม่เลี้ยงเหล้า? รู้หรือไม่ว่าเหล้าเป็นตัวนำในการเข้าสังคม?…”
สิ่งที่ผมตอบกลับไปคือการยืนยันด้วยเสียงหนักแน่นว่าไม่ต้องการให้งานแต่งงานมีเหล้า แต่สัญญาว่าจะจัดเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ อย่างเต็มที่ ไม่ให้แขกผู้มาร่วมงานต้องผิดหวังแน่นอน
“…งานแต่งเป็นงานมงคล ไม่ควรนำสิ่งอัปมงคลมายุ่งเกี่ยว และไม่ควรเริ่มชีวิตคู่ด้วยสิ่งอัปมงคล…”
“…ผมตั้งใจอยากเป็นแบบอย่างแนวทางให้กับวัยรุ่นว่า ไม่ต้องมีแอลกอฮอล์ก็เข้าสังคมได้ เพราะผมเชื่อว่ายังมีวัยรุ่นอีกหลายคนที่คิดอยากจะทำ แต่ยังไม่กล้าหรือคิดว่าไม่ควร จึงอยากให้กล้าชัดเจนและยืนยันอย่างหนักแน่นแบบผมครับ…”

สรุป
การอนุรักษณ์ประเพณีไทยถือเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะมีวัฒนธรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่วัฒนธรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานบุญหรืองานประเพณีต่างๆ ควรเป็นสิ่งต้องห้ามเพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบของเด็กและเยาวชน ที่อาจจะกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่ในอนาคต การแยกอบายมุขต่างๆ ออกจากพระพุทธศาสนาจึงเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนต้องให้ความร่วมมือ
• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ข้อมูลบางส่วนจากงานเสวนาวิชาการ “ต้นสายปลายเหตุ ภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่คนไทยต้องแบกรับ” และงานเสวนา “บุญไม่เปื้อนบาป ถอดน้ำเมาจากงานบุญ”
บทความล่าสุดในหมวด Lifestyle
• • •
• • •
[…] งานเลี้ยงที่ไร้แอลกอฮอล์ […]
[…] งานเลี้ยงที่ไร้แอลกอฮอล์ […]