การกินแบบ “Enjoy Eating” เป็นคำที่หลาย ๆ คนใช้เมื่อมีความสุข ความสนุก หรือความเพลิดเพลินกับการกิน แต่การกินอย่างมีสติ จะช่วยให้คุณมีสุขภาพที่สตรอง เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แข็งแรง

“สติ” หมายถึง การระลึกได้ หรือการรับรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น ส่วน “สมาธิ” หมายถึง ความตั้งจิตมั่น หรือแน่วแน่อยู่กับสิ่งนั้น ๆ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับงาน หากเปรียบกับการหายใจ สติจะอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ส่วนสมาธิจะทำให้เรารู้แค่การหายใจเข้าออก โดยไม่รับรู้สิ่งอื่น ๆ ดังนั้น สติกับสมาธิจึงควบคู่กันอย่างสม่ำเสมอ หรือหากสรุปความให้เข้าใจง่าย การกินอย่างมีสติคือ การรับรู่ว่าเรากำลังกินอะไร ส่วนการตั้งสมาธิกับการกินคือ การตั้งใจในการกินโดยไม่วอกแวกกับสิ่งรอบข้าง
“…เคยไหมกับการที่กินทั้งที่ไม่หิว กินจนอิ่มท้องจะแตก กินไปคุยไป จนจำไม่ได้ว่ากินอะไรไปบ้าง…”
พฤติกรรมเหล่านี้เป็นตัวอย่างของการกินแบบขาดสติ และสมาธิ เป็นการกินที่เน้นให้ตัวเองมีความสุขโดยไม่ได้คำนึงถึงการเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพหรือเลือกอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายซึ่งถือเป็นการทำร้ายตนเองในทางอ้อมและเป็นหนึ่งในสาเหตุของความอ้วน

ฝึกกินอย่างมีสติ
การกินอย่างมีสติคือ การรับรู่ว่าเรากำลังกินอะไร รู้ว่ากำลังทำกิจกรรมอะไร ให้ความสำคัญกับกิจกรรมตรงหน้า รับรู้รสสัมผัสในปาก แยกแยะสิ่งที่กำลังกินด้วยสติ
- ฝึกกินตามเวลา ไม่ใช่ตามอารมณ์ ให้อดทนจากความอยากกิน
- อย่าตักไปกินไป โดยตักอาหารทั้งหมดที่จะกินใส่จาน กะปริมาณให้เหมาะสมตั้งแต่แรก
- ไม่ทำกิจกรรมอื่นขณะกิน อย่าดูทีวี เล่นมือถือ อ่านหนังสือพิมพ์ หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งเบี่ยงเบนความสนใจไปพร้อมกัน
- ฝึกกินแบบนักวิจารณ์อาหาร ค่อย ๆ ละเลียด รับรู้รสชาติ กลิ่น เนื้อสัมผัส เคี้ยวช้าๆ อย่ารีบเคี้ยวกลืน
- จิบน้ำเปล่าระหว่างมื้อ ควรมีน้ำเปล่าหนึ่งแก้ววางไว้ข้างจานเสมอ
- ฝึกเช็คที่ว่างในกระเพาะของตัวเอง ถามตัวเองเป็นระยะว่า ตอนนี้อิ่มแค่ไหนแล้ว หากอิ่มให้หยุดไม่ควรเสียดายฝืนกินต่อ
- อย่ากินอิ่มจนเกินพอดี ควรหยุดรับประทานเมื่ออิ่มได้ 8 ใน 10 ส่วนของท้อง
- เผื่อที่สำหรับของกินจุบจิบ ถ้าจะกินขนมหรือผลไม้ต่อหลังมื้ออาหาร ต้องเผื่อพื้นที่ในกระเพาะและโควตาแคลอรี่เอาไว้ให้ เพราะคนเราไม่ได้มีสองกระเพาะเพื่อแยกของคาวและของหวาน
- กินอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ธัญพืช เพราะจะเป็นการบังคับให้ต้องเคี้ยวนานขึ้น อีกทั้งอาหารเหล่านี้ยังอยู่ท้องอิ่มนานกว่าอาหารที่ไม่มีกากใย
- ฝึกนั่งสมาธิหรือโยคะ ช่วยให้มีสติในการใช้ชีวิตประจำวันทุกๆ ด้าน รวมถึงการกินด้วย

ฝึกสมาธิในการกิน
การตั้งสมาธิในการกิน คือการตั้งใจกินโดยไม่วอกแวกกับกิจกรรมอื่นๆ เมื่อมีสมาธิในการกิน เราจะแยกแยะได้ว่าเมื่อไหร่ที่เราควรกิน และเมื่อไหร่ที่แค่รู้สึกอยากกิน
- ฝึกจิตให้ผ่อนคลายจากอารมณ์ เพราะอารมณ์จะส่งผลต่อร่างกายและจิตใจ ทำให้พฤติกรรมการกินแตกต่างจากอารมณ์ปกติ เช่น เมื่อมีอารมณ์หิวเราจะตักอาหารมากกว่าปกติ สิ่งที่ควรทำคือการถามตัวเองว่าในมื้อนี้มีความหิวมากน้อยแค่ไหน และร่างกายต้องการอาหารมากน้อยแค่ไหน ไม่ควรฝืนความต้องการของร่างกายและจิตใจ หากต้องการกินขนมหวานก็สามารถกินได้ แต่จะต้องรับรู้ถึงปริมาณที่กินเข้าไป ถามตนเองและแยกแยะระหว่างความหิวของร่างกายและความอยากอาหารของจิตใจให้ได้
- ตักอาหารทีละน้อยๆ ก่อนเข้าปาก อาจใช้ช้อนส้อมขนาดเล็ก หรือตะเกียบ การใช้อุปกรณ์การกินขนาดเล็กจะทำให้เราฝึกร่างกายให้ได้รับอาหารที่ช้าลง และได้รับปริมาณที่น้อยลงกว่าอุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่
- ฝึกวิเคราะห์ส่วนประกอบของอาหารที่กำลังกิน เช่น เนื้อสัตว์ชนิดไหน ผัก แป้ง น้ำมันแบบไหน ใส่เครื่องปรุงรสอะไรบ้าง มีวิธีการปรุงประกอบอย่างไร เพื่อรับรู้และเรียนรู้ถึงประเภทของอาหารที่เรากำลังกิน เพื่อเติมอาหารที่มีประโยชน์อื่น ๆ ให้กับตนเอง และลดปริมาณอาหารที่ก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายลง
- ฝึกกินอาหารให้ช้า เคี้ยวอาหารให้ละเอียด จากงานวิจัยพบว่า ผู้ที่เคี้ยวและกลืนเร็วจะไม่ค่อยได้รับรู้ถึงชนิดและปริมาณอาหารที่กินเข้าไป ทำให้ได้รับปริมาณและสารอาหารมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ ส่งผลให้เกิดไขมันสะสม น้ำหนักเพิ่ม ซึ่งในแต่ละคำควรจะเคี้ยวอาหารประมาณ 15-25 ครั้งก่อนจะตักคำใหม่
- ฝึกการรับรู้รสชาติของอาหาร ช่วยให้สมองและร่างกายวิเคราะห์ว่าชอบหรือไม่ชอบรสชาติอาหารนี้ ทำให้เรารู้ว่ามีนิสัยการกินรสชาติอาหารแบบไหนเป็นประจำ เพื่อเลี่ยงอาหารที่ส่งผลไม่ดีต่อสุขภาพ
- หลังการกินในแต่ละคำ ให้ฝึกวางอุปกรณ์ในการกิน เพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลายและรับรู้ว่าร่างกายต้องการอาหารเพิ่มเติมหรือว่าเพียงพอแล้ว
- นั่งกินอาหารในที่สงบและไกลจากสิ่งรบกวน เลี่ยงการคุยกับเพื่อน คุยโทรศัพท์มือถือ ดูทีวี ฟังวิทยุ ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพื่อที่จะใส่ใจกับอาหารตรงหน้า และวิเคราะห์ถึงคุณค่าและพลังงานที่จะได้จากการกิน
- หลังกินอาหารเสร็จควรนั่งพัก 3-5 นาที ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น และทำให้สมองกับจิตใจพร้อมที่จะมีแรงทำงานอย่างอื่นต่อไป

สรุป
เมื่อมีสติและสมาธิในการกินจะเกิดปัญญา เราจะรู้ว่ากำลังกินอะไร มีประโยชน์ต่อร่างกายแค่ไหน และควรกินเท่าไหร่ถึงจะพอดี การกินอย่างมีสติและสมาธิ จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีช่วยให้เรากระจ่างรู้ และเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง สตรอง และไม่เกิดโรคนั่นเอง
• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ข้อมูลบางส่วนจากเครือข่ายคนไทยไร้พุง