คนในสังคมมักมองความหลากหลายทางเพศ คือกลุ่มคนที่ชอบเพศเดียวกัน แต่ที่จริงแล้วไม่ว่าผู้ชาย ผู้หญิง ชายรักชาย หญิงรักหญิง เกย์ กะเทย ทอม ดี้ ก็คือความหลากหลายทางเพศเช่นเดียวกัน
บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ในภาษาอังกฤษย่อมาจากตัวอักษรตัวแรกของคำว่า LGBT
- Lesbian (เลสเบี้ยน)
- Gay (เกย์)
- Bisexual (ไบเซ็กชวล)
- Transgender หรือ Transsexual (คนข้ามเพศ)
ซึ่งอาจจะมีการเพิ่ม Q (Queer) และ + (Plus) เข้าไปเพราะบางสภาวะเราไม่สามารถกำหนดได้
• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •

LGBT เริ่มใช้มาตั้งแต่ยุค 90 ซึ่งดัดแปลงมาจาก “LGB” ที่ใช้ในการแทนวลี “สังคมเกย์” (Gay community) ขณะที่ในปัจจุบันการใช้ LGBT มีความหมายถึงความหลากหลายของเพศวิธี (Sexuality) และลักษณะการแสดงเพศทางสังคม และในบางครั้งอาจหมายถึงกลุ่มคนที่ไม่ใช่กลุ่มรักต่างเพศ
เมื่อความหลากหลายทางเพศถูกบีบให้สร้างเงื่อนไขความแตกต่าง ที่เหลื่อมล้ำ อะไรคือกลไกสำคัญที่จะลดความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ อะไรคือจุดตรงกลางที่ความเท่าเทียมจะปรากฏ หรือทั้งหมดอยู่ที่ทัศนคติและความคิดของคนในสังคม? แล้วเราจะช่วยพวกเขาให้หลุดจากกรอบความเหลื่อมล้ำนี้ได้อย่างไร?
จุดเริ่มต้นของความเท่าเทียมที่นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงสุขภาวะ การถูกตีตราเพราะเสียงที่เปล่งออกมาไม่มีใครได้ยิน หรืออาจจะได้ยินแต่ขาดการฟังอย่างเข้าใจลึกซึ้ง การมีพื้นที่รับฟังเสียงที่แผ่นเบาของกลุ่มหลากหลายทางเพศจึงเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ เพราะไม่ว่าจะเป็นใครก็ควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกันทุกคน อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีแก่ตนเอง

จุดเริ่มต้นของความไม่เท่าเทียม
คุณโน๊ต เจษฎา แต้สมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน พูดถึงจุดเริ่มต้นของความไม่เท่ากันในกลไกของความเป็นธรรมเอาไว้ว่า สิ่งที่ทำให้ไม่เท่ากันเริ่มมาจากความคิดความเชื่อของคนในสังคม ที่คิดว่าโลกใบนี้มีแต่ผู้หญิงและผู้ชาย ทำให้การออกแบบสวัสดิการ กฎหมาย นโยบายต่างๆ รองรับเพียงแค่ความเชื่อ แต่แท้จริงแล้วเราอยู่ในยุคของความหลากหลายทางเพศที่ไม่ได้มีแค่ผู้หญิงและผู้ชาย
ทัศนคติที่มองว่า ความเป็นผู้หญิงและผู้ชายคือสิ่งปกติ อะไรที่ผิดไปจากที่สังคมคาดหวังคือสิ่งผิดปกติ ทัศนคติเหล่านี้ก็ทำให้มองคนไม่เหมือนกัน และไม่เท่ากัน นโยบายและกฎหมายที่ออกแบบมาไม่เอื้อต่อความเท่าเทียม รวมถึงทัศนคติของคนในสังคม ทำให้เกิดความแตกต่างและไม่เท่ากัน

ทางด้านอาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.ชเนตตี ทินนาม นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเพศภาวะ ได้ขยายภาพให้กว้างขึ้นโดยแสดงความคิดเห็นว่า ความไม่เท่าเทียมมักเกิดจากการตัดสินความเป็นมนุษย์ที่คนในสังคมมองว่า เขามีความเป็นมนุษย์น้อยกว่าคนอื่นในสังคมที่เป็นหญิงชาย อันเนื่องมาจากว่า “เขา” มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่าง
…ความเป็นมนุษย์ของความเป็นเพศหลากหลายถูกตัดสินจากอัตลักษณ์ทางเพศ หรือสิ่งที่สังคมมองเข้ามาแล้วพบว่าบุคคลนั้นไม่ได้อยู่ในกล่องของเพศหญิงหรือชาย…
ความเป็นมนุษย์ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างกัน สามารถนำไปสู่การกระทำความรุนแรงในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าจะการถูกเลือกปฏิบัติ ทั้งร่างกาย จิตใจ รวมไปถึงจิตวิญญาณ

ปัญหาด้านสุขภาพที่ไม่เท่ากัน
ในแง่มุมมองสุขภาพ คุณโน๊ต ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่พบเจอเป็นประจำในกรณีคนข้ามเพศที่แม้จะศัลยกรรมเปลี่ยนเพศแล้ว แต่ด้วยคำนำหน้าที่เป็น “นาย” ก็ต้องเข้าไปนอนรวมในห้องผู้ป่วยชาย เรื่องนี้ส่วนใหญ่มักอาจทำให้รู้สึกไม่สะดวกใจ ไม่สบายใจ ทำให้คนข้ามเพศไม่อยากเข้าสู่ระบบสุขภาพของรัฐ และต้องเก็บเงินทำงานหนักเพื่อใช้บริการห้องส่วนตัวหรือเข้าสู่บริการภาคเอกชนเพื่อให้ได้รับการปฏิบัติแบบผู้หญิง
ขณะที่อาจารย์แอน อธิบายสาเหตุว่า “…การศัลยกรรมเปลี่ยนเพศ ถูกมองว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวดในลักษณะที่มีความจำเป็นที่ต้องให้ประกันสังคมเข้ามาดูแลหรือเยียวยา…”

ทุกวันนี้จึงขาดสวัสดิการในมิติสุขภาพที่เป็นธรรม ขาดระบบประกันสังคมที่เอื้อต่ออัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างให้เชื่อมโยงกับมิติสุขภาพ เพราะผู้หญิงหรือผู้ชายที่ผ่านกระบวนการศัลยกรรมเปลี่ยนเพศมา อาจมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลเนื้อตัวหรือร่างกายเป็นพิเศษ ซึ่งสิทธิประกันสังคม บัตรทองหรือว่าอื่นๆ ไม่ได้สนับสนุนการรักษาพยาบาลอันเป็นสิทธิการคุ้มครองพื้นฐาน
การไม่ยอมรับทำให้เสี่ยง
การเข้าถึงฮอร์โมน การทำศัลยกรรมหน้าอกหรือการเปลี่ยนเพศถือเป็นข้อจำกัด เพราะยังไม่ใช่รัฐสวัสดิการ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงเพราะ การเข้าถึงยาฮอร์โมนได้ง่าย ไม่ว่าจะผ่านร้านขายยา สั่งตามอินเทอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งตลาดมืด ทำให้ไม่มีการควบคุมความปลอดภัยและมาตรฐาน
รวมไปถึงการมีอยู่ของหมอกระเป๋าทำให้กลุ่มหลากหลายทางเพศต้องเผชิญกับความเจ็บป่วย และสุดท้ายก็ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาที่เป็นสวัสดิการจากรัฐบาล จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุนให้การเข้าถึงยาและบริการทางสุขภาพ อาทิ ยาฮอร์โมน การทำศัลยกรรมต่างๆ มีมาตรฐาน ปลอดภัย และเข้าถึงได้
การตีตราทำให้แตกต่าง
กลุ่มหลากหลายทางเพศมักจะถูกสังคมมองในลักษณะเหมารวมมากกว่ากลุ่มชายหญิงที่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะค่านิยม ทัศนคติ หรือฐานคิดของคนในสังคมมักมองว่าเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ผิดธรรมชาติ
…เมื่อกลุ่มหลากหลายทางเพศเข้ารับบริการในสถานพยาบาลของรัฐจึงอาจถูกปฏิบัติแบบ 2 มาตรฐาน…

ดังนั้นการที่ “เขา” เจ็บป่วยอันเนื่องมาจากสาเหตุนี้ แทนที่จะได้รับการดูแลในลักษณะที่เป็นธรรมและการปฏิบัติแบบหญิงชายทั่วไป ทำให้ไม่กล้าที่จะเข้ารับการรักษา เพราะอึดอัดใจที่จะต้องเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศแก่หมอหรือพยาบาล และกังวลว่าจะถูกตัดสินในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม
คนที่ยังไม่ coming out หรือที่ยังไม่เปิดเผยตัวตน อาจมีสภาวะของอาการป่วยด้วยโรคซึมเศร้า อันเนื่องมาจากผลกระทบจากจิตใจที่ไม่ได้รับการยอมรับจากคนในครอบครัว สังคม โรงเรียน ชุมชน ถือเป็นบาดแผลที่รุนแรงมากที่สุด คนที่มีลักษณะแบบนี้อาจนำไปสู่การสร้างพลเมืองที่อ่อนแอเพียงเพราะว่าไม่ได้รับการยอมรับ หรือถูกปฏิเสธการมีตัวตนมาโดยตลอด

เสียงที่อยากให้ฟัง
เราพบเห็นกลุ่มหลากหลายทางเพศมากมายในสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะในสื่อบันเทิง เราคิดว่าคนได้ยินเสียงเราแต่ยังไม่เห็นความสำคัญ หรือยังไม่ได้ฟังอย่างลึกซึ้ง คุณโน๊ต เล่าว่าการได้มาของเสียงนั้นจะต้องเผชิญกับความกดดัน การบีบบังคับ เผชิญกับสถานการณ์ทางสังคมที่ทำให้ต้องลุกขึ้นมาฝ่าฟันอุปสรรคขนาดไหน
…หากฟังเสียงคนที่มีความหลากหลายทางเพศ อยากให้ฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังให้เห็นว่าต้องเผชิญแรงเสียดทาน เผชิญกับปัญหาเรื่องอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย กว่าจะเติบโตมาอยู่ในปัจจุบัน…
หลายคนต้องออกจากครอบครัว ออกจากบ้านเพื่อตามหาฝัน บางคนถูกบังคับ ถูกพาไปบำบัดเพื่อให้กลับมาเป็นเพศที่สังคมคาดหวัง บางคนต้องออกจากสถานศึกษาเพราะไม่สามารถเรียนต่อได้เนื่องจากเพื่อนแกล้ง โดนครูบอกว่าการเป็นกะเทย เป็นสิ่งไม่ดี เป็นต้น

ในมุมของอาจารย์แอนบอกว่า “…เราไม่ค่อยได้ยินเสียงจากโลกภายนอก หรือเสียงจากชายหญิง เพราะกลุ่มหลากหลายทางเพศต้องการ เพื่อน…” เพื่อนในที่นี้คือ เพื่อนที่ยอมรับ ที่โอบกอดด้วยความรัก เพื่อนที่สามารถ Speak out หรือพูดแทนกลุ่มหลากหลายทางเพศได้
“ไม่ว่าจะอยู่ในเพศสภาพแบบไหน เราคือกลุ่มหลากหลายทางเพศด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้น ส่งเสียงเหล่านี้แทนเพื่อนของเราที่เป็น LGBT เพราะเขาคือเพื่อนของเรา”
สรุป
อยากให้ทุกคนลองทำความเข้าใจความหลากหลายให้ลงลึก แล้วจะพบว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการสิ่งพิเศษที่มากไปกว่าหญิงและชายเลย สิทธิหรือบริการต่างๆ ที่เราต้องการ เป็นแบบเดียวกับสิ่งที่มีในเพศชายเพศหญิง เพียงแค่อยากให้มองเห็นเราในฐานที่เป็นประชากร เป็นพลเมืองเท่านั้นเอง
• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ให้สัมภาษณ์โดยคุณเจษฎา แต้สมบัติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน
ดร. ชเนตตี ทินนาม นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเพศภาวะ
[…] ความหลากหลายทางเพศคือ… […]
[…] ความหลากหลายทางเพศคือ… […]
[…] ความหลากหลายทางเพศคือ… […]
[…] ความหลากหลายทางเพศคือ… […]
[…] ความหลากหลายทางเพศคือ… […]
[…] ความหลากหลายทางเพศคือ… […]
[…] กว่าจะรับได้ ที่ลูกเป็นกะเทย […]