ในปัจจุบันหลายคนมองว่าความหลากหลายทางเพศได้รับการยอมรับในสังคมแล้ว แต่จากสถานการณ์เกี่ยวกับการเหยียดเพศยังคงสะท้อนให้เห็นถึงมายาคติที่หลายคนยังเข้าใจผิด ทำให้เราต้องกลับมาย้อนดูว่าจริงๆ แล้ว บุคคลหลากหลายทางเพศ ถูกยอมรับแล้วจริงหรือ…?
• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •

ความหลากหลายทางเพศ
คุณโน๊ต เจษฎา แต้สมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ผู้ที่ครอบครัวเคยไม่ยอมรับในเพศสภาพ ได้ตั้งคำถามว่า เมื่อเรารู้จักเกย์ หรือกะเทยสักคน คำถามที่หลายคนมักเจอบ่อยๆ คือ “…รู้ตัวว่าเป็นแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่?…” ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้มีคำตอบตายตัว เพราะมันขึ้นกับผู้ถามว่า ถามใคร คำตอบมีได้ทั้ง Born to be เป็นตั้งแต่เกิด ไปจนถึงมีลูกมีเมียแล้วถึงรู้ว่าไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง
“…คนในสังคมมักมองความหลากหลายทางเพศว่ากลุ่มคนที่ชอบเพศเดียวกัน แต่ที่จริงแล้วไม่ว่าผู้ชาย ผู้หญิง ชายรักชาย หญิงรักหญิง เกย์ กะเทย ทอม ดี้ ก็คือความหลากหลายทางเพศเช่นเดียวกัน…”

โลกยอมรับความหลากหลายทางเพศหรือยัง?
“ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของความหลากหลายทางเพศ โลกยอมรับเรื่องนี้ได้แล้ว” นี่คือสิ่งที่หลายคนเข้าใจ แต่ความจริงแล้ว มีคนข้ามเพศ กะเทย หรือสาวประเภทสอง ถูกฆ่าหรือสังหารกว่า 2,986 คน
(ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยโครงการติดตามการฆ่าสังหารคนข้ามเพศ [Transgender Monitoring] โดยสหภาพคนข้ามเพศยุโรปตั้งแต่ปี 2008 – 2018)
ในขณะที่ประเทศไทยได้เก็บข้อมูลภายใต้โครงการเดียวกันพบว่า มีคนข้ามเพศที่อายุตั้งแต่ 13-53 ปี ถูกฆ่าถึง 21 คน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ คือ…
“ฆ่าเพราะความเกลียดชัง”
สถานการณ์ความรุนแรง การตีตรา และการถูกเลือกปฏิบัติในกลุ่มหญิงรักหญิงต้องเผชิญกับความรุนแรงประมาณ 11% กลุ่มชายรักชาย 13% และกะเทยหรือคนข้ามเพศ 34.8% ซึ่งหากมีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ตัวเลขอาจมีเพิ่มขึ้น ที่น่าตกใจคือ สถาบันที่กระทำความรุนแรงที่สุดอันดับหนึ่งคือ ครอบครัว รองลงมาคือ สถาบันการศึกษา และที่ทำงาน ตามลำดับ (ข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ)

บวชเพื่อรักษาเพศสภาพ
เรื่องราวชีวิตของคุณโน้ตได้รับรู้ถึงความแตกต่างจากการถูกเพื่อนเรียกว่า ตุ๊ด กะเทย หรือแต๋ว “…มันทำให้เรียนรู้ว่า เรามีพฤติกรรมแตกต่างจากเด็กผู้ชายคนอื่น เราเรียนรู้ว่านี่เองที่คนเรียกว่าสาวประเภทสอง หรือกะเทย…” ความแตกต่างนี้ทำให้ครอบครัวเริ่มมีคำถาม เริ่มสงสัย แต่สิ่งที่ครอบครัวทำ คือ “การส่งไปบวช”
“…การเข้าไปอยู่ในวัด ถูกควบคุมการตื่น การนอน การกิน แต่สิ่งที่เจอในวัดคือ เณรที่ตุ้งติ้ง พระที่ตุ้งติ้ง หรือที่หลายคนเรียกว่า ‘หลวงแม่’ ‘หลวงเจ๊’ ทำให้รู้ว่า สิ่งที่เราเป็นคือสิ่งที่ไม่ถูกต้องเลยต้องมาบวชเพื่อแก้กรรม…”
หลังออกจากวัดจึงต้องเก็บซ่อนความรู้สึกในใจ เพราะไม่อยากถูกส่งมาที่วัดอีก แต่ความลับไม่มีในโลก เมื่อวันหนึ่งคุณแม่มาช่วยจัดของในกระเป๋าและพบกับซองยาที่ไม่มีฉลาก จึงคิดว่าเป็นยาเสพติดและได้นำไปสอบถามที่ร้านขายยา โดยคำตอบที่ได้รับคือ ยาดังกล่าวเป็น “ยาฮอร์โมนเพศหญิง”

พบจิตแพทย์เพื่อรักษา
“…แม่มาคุยตรงๆ ว่าเป็นเด็กผู้ชายทำไมต้องกินยาฮอร์โมนผู้หญิงด้วย…” คุณโน๊ตตอบกลับง่ายๆ ว่าอยากเป็นผู้หญิงเลยกินยาฮอร์โมน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องไปพบกับจิตแพทย์ เพื่อหาทางออกให้กับครอบครัว
คำถามแรกที่หมอถามคือ “…อยากไปอยู่ทิฟฟานี่ หรืออัลคาซ่าไหม?…” แต่ในใจของคุณโน๊ตต้องการเพียงแค่อยากให้ครอบครัวยอมรับในความเป็น “เรา” ไม่ได้ต้องการจะไปเป็นนางโชว์หรือนักแสดง
คุณหมอจึงได้วาดเส้นตรงลงบนกระดาษ โดยที่ปลายเส้นคือเลขศูนย์ อีกด้านคือเลขสิบ แล้วให้ คุณโน๊ต เลือกเปรียบตัวเองว่า หาก 0 คือผู้ชาย 10 คือผู้หญิง คุณโน๊ตตอบได้อย่างไม่ลังเลเลยคือ ตนอยู่ที่ 8 และในอนาคตจะไปอยู่ที่ 10 นั่นคือการทำหน้าอกและเปลี่ยนเพศในที่สุด

สิ่งที่คุณหมอแนะนำต่อคือ หากอยู่ที่ 0 หรือเป็นผู้ชายไม่ได้ ขอให้อยู่ที่ 5 เป็นแค่เกย์ แค่ชายรักชาย ไม่ต้องไว้ผมยาว ไม่ต้องแต่งหน้า ไม่ต้องแสดงออก ไม่ต้องศัลยกรรม เพื่อให้ง่ายต่อการประสบความสำเร็จในชีวิต แม้ว่าในใจจะรักและชอบเพศเดียวกัน แต่ก็ไม่ต้องเปิดเผยว่าเป็นใคร
“…ในใจไม่เชื่อที่คุณหมอแนะนำนะ แต่เราไม่สามารถปฏิเสธความจริงได้ เราไม่ใช่เกย์ ไม่ใช่ชายรักชาย แต่เราเป็นสาวประเภทสอง เราเป็นกะเทย…”
คุณโน๊ต เล่าต่อว่า ครอบครัวพยายามหาสาเหตุถึงการที่โน๊ตเป็นแบบนี้ ซึ่งหมอให้คำตอบที่แทงใจดำว่า “…เพราะพ่อไม่สามารถเป็น role model (แบบอย่าง) ที่ดีให้กับลูกได้ ลูกจึงไปเลียนแบบพฤติกรรมของแม่และซึมซับความเป็นผู้หญิงแทน…”

ถูกจับตามองตลอดเวลา
เราไปโรงพยาบาลอย่างมีความหวังเพื่อสร้างความเข้าใจกับครอบครัว แต่เดินออกมาจากโรงพยาบาลอย่างสิ้นหวัง…จากบ้านที่เคยมีความสุข กลายเป็นบ้านที่เหมือนติดกล้องวงจรปิดเอาไว้ทั่ว
คุณหมอได้แนะนำวิธีการพาให้กลับมาเป็นลูกโน๊ตที่ครอบครัวคาดหวัง ซึ่งมีสองวิธีคือ 1. พาไปยังคลินิกที่รักษาบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะ และ 2. ใช้วิธีครอบครัวบำบัด ใช้ชีวิตกับครอบครัวมากขึ้น ทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น ซึ่งคุณแม่ได้เลือกวิธีนี้
คุณโน๊ตถูกจับตามองแม้กระทั่งกิริยาท่าทางในการกิน การเดิน การนอน ถูกห้ามแต่งหน้า ห้ามแต่งชุดผู้หญิง และยังถูกห้ามคบเพื่อนสนิทที่สุด ซึ่งเป็นกะเทย “…เราได้แต่ร้องไห้เพราะทำให้ครอบครัวผิดหวัง ทำให้ทุกคนเสียใจ แต่เมื่อเรามองย้อนกลับไป ‘พ่อ’ ที่เป็น Family man เป็นคนที่ดูแลครอบครัวไม่เคยขาดตกบกพร่องในการเลี้ยงดู กลับถูกคุณหมอกล่าวหาว่าเป็นความผิด ท่านจะรู้สึกอย่างไร…”
ในช่วงนั้นได้เปรียบการใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวเป็นการใช้ชีวิตในนรก แต่ประจวบเหมาะที่ต้องสอบเอ็นทรานซ์ จึงเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เพื่อจะไปให้ไกลที่สุดจากบ้าน เพราะไม่ต้องการถูกจับจ้อง จับตามอง และเลือกลงเรียนในทุกช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน เพื่อเลี่ยงการกลับบ้านในช่วงปิดเทอม ทำให้สามารถจบปริญญาตรีภายในสามปีครึ่ง
จากเดิมที่ครอบครัวมีความกังวลที่มีลูกหรือคนในครอบครัวเป็นกะเทยหรือเป็นสาวประเภทสอง ก็กังวลเพิ่มขึ้น กังวลว่าจะไม่มีงานที่ดี กังวลว่าจะอายุสั้น กังวลว่าจะไม่เจอรักแท้ โดนหลอกลวงเรื่องความรัก ซึ่งความกังวลเหล่านี้ไม่ถูกอธิบายหรือคลี่คลายออกมาบนฐานของความเข้าใจในประเด็นเรื่องสิทธิทางเพศ สิทธิมนุษยชน นำไปสู่ความกลัว

จุดเปลี่ยน
หลังจากเรียนจบ คุณโน๊ตได้ทำงานในประเด็นด้านสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศกับกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าเป็น “กะเทย” หรือ “สาวประเภทสอง” ต่อมาได้ก่อตั้งเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยร่วมกับเพื่อนและคนจัดทำโครงการ การสร้างแนวปฏิบัติสำหรับครอบครัวที่มีบุตรหลานเป็นกะเทย โดยได้รับการสนับสนุนจากแผนงานสุขภาวะทางเพศ มีมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง (สคส.) เป็นพี่เลี้ยง จนในปัจจุบันได้จดทะเบียนเป็น “มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน”
“…เราต้องการพัฒนาเครื่องมือที่ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจลูกที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นกะเทยหรือสาวประเภทสอง และทำให้พวกเขาเข้าใจพ่อแม่มากขึ้น เพราะหลังจากทำงานไปเรื่อยๆ ทำให้เราคิดถึงครอบครัวของตนเองในอดีต”
“…การที่เราเป็นกะเทยหรือสาวประเภทสองทำให้ครอบครัวต้องเผชิญกับแรงเสียดทาน รับแรงกดดันต่างๆ ไม่ว่าจะจากญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน คนรอบข้าง หรือเพื่อนร่วมงานที่ต่างถามว่า เลี้ยงลูกยังไงให้ผิดเพศ…”

ฉันเป็นอะไร
ความกลัวไม่อยากให้ลูกเป็นกะเทยหรือสาวประเภทสอง ทำให้ต้องพาลูกไปบวช พาไปพบจิตแพทย์ ห้ามแต่งกายต่างๆ นานา การกระทำดังกล่าวมาจากความรักและความปรารถนาดี แต่ขาดความรู้และความเข้าใจ จึงอยากจะให้ครอบครัวที่กำลังมีคำถาม มีข้อสงสัยว่าตัวเองเป็นเพศอะไรมองว่า…
- ไม่ต้องหาสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร เพราะเราไม่สามารถหาสาเหตุได้
- ไม่ต้องหาคนผิด เรื่องแบบนี้ไม่มีใครผิด
- เด็กและเยาวชนไม่ได้มีแค่เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย
- ไม่ใช่เรื่องความผิดปกติทางจิต ไม่ใช่เวรกรรม ไม่ใช่บาปกรรมจากชาติก่อน
หากเราเข้าใจตรงจุดนี้จะทำให้เรายอมรับครอบครัวได้มากขึ้น
“หากในวันนั้นโน๊ตเลือกที่จะไปอยู่เลขห้า หรือเลขศูนย์ ในสภาวะที่กดดัน วันนี้เราคงไม่ได้มาคุยกัน ปัจจุบันโน๊ตเลือกที่จะลบเส้นนั้นออกจากหัวใจ เพราะมันทำให้เรามีความสุขในชีวิตมากขึ้น ภาคภูมิใจในความเป็นกะเทย ภาคภูมิใจในความเป็นเพศของเรามากขึ้น”

สรุป
คุณล่ะ อยู่ตรงจุดไหนของเส้น หากเพื่อนที่นั่งข้างๆ เลือกที่จะอยู่ตรงเลข สาม ห้า หรือแปด คุณจะยอมรับเขาได้ไหม? ถ้าหากไม่มีเส้นของความเป็นเพศนี้อยู่เลย เราจะยอมรับกันได้ไหม? อยากให้ทุกคนมองข้ามคำว่าเพศออกไป แล้วเคารพในความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ไม่ต้องอายที่จะยอมรับว่า “ลูกฉันเป็นกะเทย”
• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ข้อมูลบางส่วนจากเวทีการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ เรื่อง “ครอบครัว จุดเริ่มต้น และจุดเปลี่ยนของมายาคติ”
โดยคุณโน๊ต เจษฎา แต้สมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน
[…] กว่าครอบครัวจะรับได้ ที่ฉันเป็นกะเ… […]
[…] กว่าครอบครัวจะรับได้ ที่ฉันเป็นกะเ… […]
[…] กว่าครอบครัวจะรับได้ ที่ฉันเป็นกะเ… […]
[…] กว่าครอบครัวจะรับได้ ที่ฉันเป็นกะเ… […]
[…] กว่าครอบครัวจะรับได้ ที่ฉันเป็นกะเ… […]
[…] กว่าครอบครัวจะรับได้ ที่ฉันเป็นกะเ… […]
[…] กว่าครอบครัวจะรับได้ ที่ฉันเป็นกะเ… […]
[…] กว่าครอบครัวจะรับได้ ที่ฉันเป็นกะเ… […]
[…] กว่าครอบครัวจะรับได้ ได้ฉันเป็นกะเ… […]