เทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดข่าวลวง และข่าวปลอม อันเป็นปัญหาระดับสากลที่เกิดขึ้นทั่วโลก สังคมยุคดิจิทัลที่พัฒนาให้ช่องทางสื่อสารบนโลกออนไลน์ถูกพัฒนาให้ง่ายต่อการใช้งาน อันเป็นต้นเหตุของข่าวลวง ข่าวปลอม
จากเดิมที่คนทั่วไปเป็นเพียงผู้รับสาร แต่ทุกวันนี้ทุกคนสามารถเลือกเป็นสื่อเองได้ ข้อมูลบนโลกออนไลน์ที่ปรากฏขึ้นจึงอาจขาดการตรวจสอบข้อเท็จจริง เกิดการเผยแพร่ข่าวลวง ข่าวปลอม รวมไปถึงข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายกับสังคมเป็นวงกล้าง
• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •

การแชร์ข่าวลวงข่าวปลอม ข้อมูลที่ผิด ข้อมูลที่ขาดความน่าเชื่อถือหรือแหล่งอ้างอิง ถือเป็น 1 ใน 3 สิ่งที่ผู้ใช้สื่อออนไลน์ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียมักจะส่งต่อหรือแชร์กันเป็นประจำ โดยส่วนใหญ่มักเป็นข้อมูลที่มีเนื้อหากระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น หรือข่าวที่เสียหายทำให้เรารู้สึกอยากส่งต่อข้อมูลอันเป็นความเข้าใจผิดของสังคม ไม่ว่าจะเรื่องยารักษาโลกที่สามารถรักษามะเร็งได้ รวมไปถึงพฤติกรรมต่างๆ ที่ช่วยให้เกิดสิ่งดีๆ ไปจนถึงเรื่องการค้าขาย เรื่องเพศ ที่ส่งผลกระทบในทุกแวดวงของสังคม
“…สมัยก่อนสื่อมวลชนทำหน้าที่ในฐานะ‘ผู้รักษาประตูข่าวสาร หรือ Gatekeeper’ ที่คอยกรองข่าวให้กับประชาชน แต่ทุกวันนี้ไม่ว่าใครที่เป็นผู้ใช้สื่อก็สามารถเป็นผู้ส่งสารเองได้ แต่จะไม่มีใครทำหน้าที่ผู้รักษาประตูข่าวสาร ที่ทำหน้าที่ในการคัดกรองและพิจารณาความน่าเชื่อถือของข่าว…” นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ทางด้าน นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภค สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า “…การเปลี่ยนผ่านของสื่อมวลชนที่พัฒนาจากสื่อกระจายเสียงและสื่อสิ่งพิมพ์ เข้าสู่ยุคของสื่อดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้บทบาทของสื่อมวลชนแบบดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไป การตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาและแหล่งที่มาของข่าวเปลี่ยนไป ผู้รับสารมีช่องทางในการรับข้อมูลข่าวสารมากขึ้น การผลิตข้อมูลข่าวสารในหลากหลายรูปแบบรวมถึงข้อมูลข่าวสารลวงจึงเป็นปัญหาระดับโลก…”

ข่าวลวง ข่าวปลอม คืออะไร?
- พาดหัวลวง ชวนให้คลิก โดยส่วนใหญ่มักใช้คำหรือข้อความในการพาดหัวเพื่อให้คนเข้าใจผิด ทำให้ดูชวนสงสัย ชวนติดตาม กระตุ้นความอยากรู้ หรือเรียกร้องความสนใจให้คนอยากส่งหรือแชร์ต่อข้อมูล เนื้อหาอาจจะไม่ใช่เรื่องเท็จทั้งหมด เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ และสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วในสื่อสังคมออนไลน์เพื่อเรียกให้ผู้เข้าชมคลิกไปยังลิงก์ที่ต้องการ
- โฆษณาชวนเชื่อ เป็นเรื่องราวที่ถูกคัดสรรและสร้างขึ้นเพื่อให้เข้าใจผิด สร้างอคติทั้งทางลบและบวก ส่วนใหญ่มักเป็นสร้างเรื่องราวเพื่อหวังผลอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะการหวังผลทางการเมืองที่อาจจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิด หรือชื่นชอบก็ได้
- เสียดสี/ล้อเลียน เป็นการสร้างข่าวขึ้นมาเพื่อล้อเลียนหรือเสียดสีคนดังเพื่อความบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเท็จก็ถือว่าเป็นข่าวที่สร้างความเสียหายให้ตัวบุคคลนั้น แต่สามารถเรียกความสนใจให้ผู้เข้าชมเว็บไซต์ และส่งต่อหรือแชร์ต่อได้เป็นอย่างดี
- เสนอข่าวแบบลวกๆ ในบางครั้งผู้สื่อข่าวที่เป็นผู้รักษาประตูข่าวสารอาจเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ตกหล่นข้อมูล หรือข้อมูลผิดพลาด ส่งผลให้สำนักข่าวหรือตัวผู้สื่อข่าวไม่น่าเชื่อถือ เป็นเพราะความไม่ละเอียดที่ไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด ทำให้ผู้อ่านหรือผู้ชมเข้าใจผิด ถึงแม้ว่าเนื้อหาข่าวอาจจะไม่เท็จทั้งหมด แต่การมีข้อมูลตกหล่นหรือคลาดเคลื่อนส่งผลต่อการรับรู้ของผู้อ่านหรือผู้ชม
- ข่าวลำเอียง การค้นหาข้อมูลบางอย่างบนสื่อสังสังคมออนไลน์ สามารถตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นที่จะช่วยสนับสนุนความคิด ความเชื่อ อคติของผู้ใช้สื่อ โดยสามารถวิเคราะห์จากลักษณะคำค้นหาของผู้ใช้สื่อ ทำให้ข้อมูลที่ปรากฏอาจเป็นข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เป็นข้อมูลที่ปรากฎแบบลำเอียง หรือข้อมูลที่ตอบรับความคิดของผู้ที่ค้นหา

วิธีตรวจเช็ค ข่าวลวง ข่าวปลอม
การร่วมมือกันต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอมควรเกิดขึ้นในทุกระดับของสังคม ปรภ จึงขอนำองค์ความรู้ที่จะช่วยส่งเสริมให้ทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจ รู้เท่าทันสื่อสารมวลชนและสื่อดิจิทัลได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้การเช็คว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอมสามารถทำได้ดังนี้
- ลิงก์ที่เห็นเกี่ยวกับเนื้อหาหรือไม่ ตรวจสอบลิงก์ หรือ url ของเว็บไซต์ ดูความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาข่าว ตรวจสอบชื่อของเว็บไซต์และลิงก์ทางการ ว่าเป็นเว็บไซต์ทางการหรือเป็นเว็บไซต์ปลอม ตรวจดูหน้าอื่นๆ ของเว็บไซต์ ภารกิจองค์กร ที่อยู่ในการติดต่อ ฯลฯ
- อ่านเนื้อหาโดยรวม สังเกตพาดหัวข่าวที่ดูหวือหวา และอ่านเนื้อหาที่อยู่ในเรื่อง ว่าเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่ น่าเชื่อถือแค่ไหน
- ทำความรู้จักผู้เขียน ค้นหาดูว่าผู้เขียนเนื้อหานั้นมีตัวตนจริงไหม มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหนโดยอ่านเนื้อหาหรือบทความเก่าของผู้เขียนนั้นๆ
- ตรวจสอบวันเดือนปีที่เผยแพร่ การโพสต์ข่าวเก่าอาจจะไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ปัจจุบัน แต่การนำข่าวเก่ากลับมาโพสต์โดยอ้างอิงเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกับปัจจุบันก็อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิด
- ตรวจสอบอคติของเรา เพราะความเชื่อส่วนตัวอาจเป็นสิ่งที่ตัดสินข่าวนั้น หากเราคิดว่าเรื่องราวจะเป็นไปในทิศทางใด ข่าวปลอมที่ปรากฏตามความคิดอาจชักจูงให้หลงเชื่อได้ง่าย
- ถามผู้รู้ถ้าไม่แน่ใจ ควรถามผู้รู้หรือตรวจสอบกับแหล่งข้อมูลที่นำเสนอข้อเท็จจริง หรือการนำเสนอข่าวจากสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ

สรุป
รู้อย่างนี้แล้วก่อนจะแชร์ จะคอมเมนต์อะไรบนสื่อสังคมออนไลน์ควรตรวจเช็คข้อมูลข่าวสารก่อน เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวลวง ข่าวปลอม ที่เขียนขึ้นมาเพื่อเรียกยอดวิวนะครับ
• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ข้อมูลบางส่วนจากสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน
ให้สัมภาษณ์โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภค สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ
บทความน่าอ่านต่อ
บทความล่าสุดในหมวด Lifestyle
• • •
• • •