รายการโทรทัศน์ประเภทบันเทิงยอดนิยมคงหนีไม่พ้น “ละครไทย” โดยละครโทรทัศน์ไทยเรื่องแรกคือเรื่อง สุริยานีไม่ยอมแต่งงาน ออกอากาศทางช่อง 4 บางขุนพรหม ทั้งนี้ละครไทยมักประกอบไปด้วยตัวละครฝ่ายดี ฝ่ายเลว และสามารถเดาตอนจบของเรื่องได้ง่าย โดยมักจะจบลงแบบสุขนฏกรรม และมีการทำซ้ำกันบ่อยครั้ง
• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •

“ละคร” เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน เรียกได้ว่าเป็นสื่อบันเทิงที่ได้รับความนิยมสูงสุด ยิ่งไปกว่านั้นจากผลสำรวจพบว่า 78% ของเยาวชนไทยมีพฤติกรรมเลียนแบบละคร ทำให้ต้องมองย้อนกลับมาว่า ละครกำลังสอนคนหรือกำลังสะท้อนอะไรบางอย่างจากสังคมกันแน่?
ถ้ามองย้อนกลับไปช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วงการละครอุดมไปด้วยเรื่องที่เป็นน้ำเน่า วนเวียน ซ้ำซาก จำเจ ไม่ไปไหน มีสูตรสำเร็จตายตัว เดาจุดจบได้ จึงไม่แปลกที่ละครบางช่วงก็น้ำเน่า บทความนี้ ปรภ จะพามาหาคำตอบกันว่า ละครไทย ทำไมถึงต้องน้ำเน่า?
จากนิยาย สู่ละครน้ำเน่า
ในภาษาของละครได้จำแนกละครน้ำเน่าเอาไว้ว่าเป็น “Melodrama” หรือที่เรียกว่า “เรื่องประโลมโลก” และหากมองย้อนไปในลักษณะวรรณกรรมหรือนิยายที่มีหลายช่วงเวลาในอดีต มันก็อุดมไปด้วยเนื้อหาที่น้ำเน่า เพราะฉะนั้นถ้ามองอย่างให้ความเป็นธรรมกับศิลปะการละคร มันก็คือความจริงที่เกิดขึ้นว่าสังคมในอดีตนั้น “เสพน้ำเน่า” เป็นความบันเทิง จึงไม่แปลกที่นิยายบางช่วงเต็มไปด้วยเรื่องที่เราเรียกว่า “น้ำเน่า”

ยุ่น ยิ่งยศ ปัญญา นักเขียนบทละครไทยได้อธิบายคำว่าละครน้ำเน่าเอาไว้ว่า “ …คำว่าน้ำเน่าเป็นคำแสลงใจ เหมือนเป็นคำด่า ‘อีน้ำเน่า’ เหมือนถูกสร้างมาเพื่อทำให้เจ็บแสบ ทั้งเจ็บทั้งคัน เต็มไปด้วยความรู้สึกที่เป็นอคติ และเมื่อคำนี้ถูกนำมาใช้กับละคร ซึ่งความจริงเราก็ติดปากนึกจะใช้สิ่งนี้ว่า ชีวิตของใครสักคนน้ำเน่า เป็นต้น ผมอยากจะชวนให้คิดว่าหากเปรียบเทียบชิ้นงานสักชิ้นในลักษณะของน้ำเน่ามันยุติธรรมไหม?… ”
ศิลปะสะท้อนสังคม
จากประสบการณ์ในวงการนักเขียนบทละคร ยุ่น ได้ให้ความเห็นต่อละครในยุคนี้ว่า “ …เมื่อพูดถึงละครในยุคนี้ ผู้ผลิตมักจะตีความเอาเองว่า ‘คนดูชอบเสพสิ่งเหล่านี้’ ‘นี่คือสิ่งที่คนดูต้องการ’ และ ‘เราต้องทำให้คนดูพอใจ’ มันจึงเกิดละครที่มีเนื้อเรื่องน้ำเน่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า วนเวียน มีการผลิตละครเก่า รีเมค ทำซ้ำขึ้นมาโดยเปลี่ยนตัวละครเอกให้เข้ากับยุคสมัย แต่ยังคงความเป็นละครน้ำเน่าดั้งเดิมเอาไว้ เพียงเพราะผู้ผลิตเชื่อว่าละครน้ำเน่าจะขายได้… ”

คำว่า “ศิลปะสะท้อนสังคม” หมายถึง การมองภาพรวมของสังคมว่าเป็นอย่างไร งานศิลปะที่แม้จะเป็นศิลปะเชิงพาณิชย์อย่างละครทีวีก็ออกมาเป็นเช่นนั้น ชั้นเชิงของการใช้คำว่า “ละครน้ำเน่า” ของบริบทการเสียดสีประชดประชันใส่จึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ทำไมละครน้ำเน่าบางเรื่องถึงประสบความสำเร็จและได้รับความนิยมสูงกว่าละครน้ำดีหลายๆ เรื่อง
การที่ละครน้ำเน่าเป็นที่นิยมกว่าละครขายดีทำให้ต้องกลับมาพิจารณาถึงองค์ประกอบต่างๆ เช่น ละครน้ำเน่าเรื่องนั้นออกมาในจังหวะที่เหมาะสมหรือไม่? นักแสดงเล่นดีถึงความเป็นน้ำเน่าหรือไม่? องค์ประกอบรวมๆ ในการที่จะออกมาเป็นละครมีความครบเครื่องสมบูรณ์แบบหรือไม่? ละครน้ำเน่าจึงอยู่ในทุกสังคม ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย

จั๊กจั่น อคัมย์สิริ สุวรรณศุข ในฐานะนักแสดงอธิบายว่า “…ละครไทยแตกต่างจากละครต่างประเทศ เพราะผู้เขียนบทมักจะแคร์ความรู้สึกของผู้ชม โดยเฉพาะการอยู่ในกรอบของวัฒนธรรม ขนมธรรมเนียมประเพณี และจะไม่เขียนบทละครที่เป็นเรื่องขัดแย้งกับความเชื่อของคนไทย โดยส่วนตัวมองว่า ละครจะสนุกจะต้องมีบทละครที่ดี ซึ่งจะทำให้นักแสดงสนุกไปด้วย และเมื่อทุกอย่างดีคนดูก็จะชื่นชอบและติดตามเพราะลุ้นไปกับแต่ละเนื้อหาที่นำเสนอ… ”
ยุ่น เล่าต่อว่า “ …ละครมีอิทธิพลต่อสังคมที่เปลี่ยนไป เพราะละครไทยเป็นสื่อฟรีที่ทำให้เกิดการแข่งขันสูง โดยเฉพาะการแข่งขันด้านเนื้อหาที่ทำให้ผู้ผลิตละครมุ่งผลิตให้น่าสนใจมากที่สุด เพราะละครแต่ละเรื่องมีคุณค่าที่กระทบใจคนดูแตกต่างกันไป การสอนคนดูด้วยการไม่ยัดเยียดผ่านการดำเนินเนื้อเรื่องให้คนดูคิดตามและตั้งคำถามระหว่างตัวเองกับสังคม ซึ่งบทบาทหน้าที่ของละครไทยคือการทำให้คนดูเกิดวุฒิปัญญาที่เกิดจากการตั้งคำถาม ค้นหาความหมายของชีวิต… ”

“ …เราควรจะเปิดใจรับความน้ำเน่าแบบแฟร์ ๆ อย่างเข้าใจสังคม เพราะว่า มันเป็นผลของการตีกลับไปกลับมา ‘ละครเป็นอย่างไร สังคมก็เป็นเช่นนั้น-สังคมเป็นอย่างไร ละครก็เป็นเช่นนั้น’ ไม่ใช่ว่าละครน้ำเน่าจะเป็นสื่อที่สังคมต่อต้าน… ”
…อย่างน้อยที่สุดละครน้ำเน่าเรื่องนั้นในสายตาผู้ชมไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ มันก็มอบความเพลิดเพลินให้กับผู้ชมได้บ้าง ไม่มากก็น้อย…
ประโยชน์ของละครน้ำเน่า
“ …ละครไทยมีความสนุก แฝงไปด้วยศิลปะแขนงต่างๆ รวมไปถึงมีความดีงามสอดแทรกเข้าไป… ” อาจารย์แดง ศัลยา สุขะนิวัตติ์ นายกสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ผู้เขียนบทละครบุพเพสันนิวาสอธิบายในมุมของของตัวเองเกี่ยวกับละครน้ำเน่าว่า “ …ในละครบางเรื่องสามารถเห็นได้ชัดเจนว่ามีแต่ฉากที่รุนแรง โหดร้ายเกินมนุษย์ แต่ไม่ได้มอบประโยชน์อะไรให้กับสังคม ซึ่งแท้จริงแล้วละครไทยควรจะสอนคนดู และควรตัดวงจรความเป็นละครน้ำเน่าออก… ”

“…ละครโทรทัศน์เป็นพาณิชย์ศิลป์ ซึ่งศิลปะที่อยู่ในละครไทยมีความดี ความงาม มีความสุนทรีมีความคิดที่ดีใส่เข้าไปในละคร นอกเหนือไปจากการขายของจากผู้สนับสนุน ถึงแม้ว่าเรื่องการขายของจะไม่เกี่ยวกับผู้เขียนบทแต่กลับถูกทำให้เกิดการแข่งขันในเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม ละครไทยเรื่อง ‘กรงกรรม’ เรียกได้ว่าอยู่ในกระแสและสามารถผนวกความเป็นพาณิชย์และศิลปะเข้ากันได้อย่างกลมกลืน…” อาจารย์แดงกล่าว

“ …ศิลปะการละครถือเป็นศิลปะอันดับหนึ่งที่มนุษย์มี เพราะเป็นการนำศิลปะทุกแขนง ทุกภาคส่วนมาร่วมกันประมวลออกมาเป็นละคร… ” ในฐานะของนักเขียนบทละครไทย ยุ่นบอกเล่าประโยชน์ของละครไทยว่า “ …นอกจากหน้าที่การให้ความบันเทิง ดูแล้วมีความสุข ละครยังมีอิทธิพลต่อสังคมที่เปลี่ยนไป เพราะละครเป็นสื่อฟรีที่ทำให้เกิดการแข่งขันสูง โดยเฉพาะการแข่งขันด้านเนื้อหาที่ทำให้ผู้ผลิตละครมุ่งผลิตให้น่าสนใจมากที่สุด… ”
“ …ละครไทยแต่ละเรื่องมีคุณค่าที่กระทบใจคนดูแตกต่างกันไป การสอนคนดูด้วยการไม่ยัดเยียดผ่านการดำเนินเนื้อเรื่องให้คนดูคิดตามและตั้งคำถามระหว่างตัวเองกับสังคม ซึ่งบทบาทหน้าที่ของละครคือ การทำให้คนดูเกิดวุฒิปัญญาที่เกิดจากการตั้งคำถาม ค้นหาความหมายของชีวิต เป็นต้น… ”
ละครที่เราเรียกว่า “ละครน้ำเน่า” คนก็ดู แต่ถ้าเราแทรกความรู้ ความดีงามสอดเข้าไปให้กลมกลืนกับความน้ำเน่า ทำให้เห็นว่าการกระทำไม่ดีจะส่งผลเช่นไร แล้วหากทำดีจะเป็นเช่นไร
การผลิตละครไทยให้ดีต้องเริ่มจากบทละครที่สร้างสรรค์และสามารถสะท้อนข้อคิดให้กับผู้ชม รวมไปถึงการดำเนินเรื่องราวผ่านตัวละครอย่างน่าสนใจ และที่สำคัญละครเรื่องนั้นจะต้องบรรลุเป้าหมายอันดับหนึ่งคือ ความสนุกและความบันเทิง จึงจะเกิดเป็นละครที่สร้างสรรค์ให้กับคนดู
สรุป
ละครไทย แม้จะเป็นละครน้ำเน่า แต่สุดท้ายก็ยังมีคนดูจำนวนมาก การพัฒนาบทละครไทยให้ความน้ำเน่าแฝงไปด้วยความรู้ แทรกความดีงามสอดเข้าไปให้กลมกลืนกับความน้ำเน่า เพราะน้ำเน่าคือน้ำนิ่ง เราเอาเหตุผลใส่ไป เอาผลกระทบใส่ไป ก็เปรียบเสมือนการสอนคน ถือเป็นการช่วยสร้างสังคมให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
• • • กลับสู่หน้าหลัก • • •
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ข้อมูลจากงานเสวนา “ละคร : มิติเชิงสร้างสรรค์ต่อสังคมสุขภาวะ” โดย
นายยิ่งยศ ปัญญา (ยุ่น) นักเขียนบทละครโทรทัศน์
อาจารย์ศัลยา สุขะนิวัตติ์ นายกสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์
บทความน่าอ่านต่อ
บทความล่าสุดในหมวด Lifestyle
• • •
• • •
[…] ละครไทย ทำไมถึงน้ำเน่า? […]